เครื่องเสียงวินเทจกับการลงทุน ตอนที่ 1 ปรีแอมป์

ข้อแตกต่างที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของเครื่องเสียงใหม่กับเครื่องเสียงวินเทจนั่นก็คือ มูลค่าของตัวเครื่องมีการแปรผันกับกาลเวลาแตกต่างกัน เครื่องเสียงใหม่มูลค่าของเครื่องจะแปรผกผันไปกับเวลาที่เพิ่มขึ้น เช่น ซื้อเครื่องใหม่ราคาหนึ่งแสนบาทฟังไปหนึ่งปี เบื่อเอาไปฝากขายราคาอาจจะเหลือแค่ครึ่งเดียว แต่เครื่องเสียงวินเทจหลายๆตัวกลับแปรฝันตามเวลาที่เพิ่มขึ้นเช่น ซื้อปรีแอมป์วินเทจราคาหนึ่งแสนบาท ฟังไปได้หนึ่งปีราคาเพิ่มขึ้นกลายเป็น 1.2 แสนบาท แต่ต้องเลือกยี่ห้อรุ่นที่นิยมเล่น และสะสมกัน หลายๆตัวยิ่งเก็บนานยิ่งเพิ่มมูลค่า ความจริงไม่ได้อยากจะชักชวนให้ท่านผู้อ่านแห่กันเข้ามาซื้อเก็บเครื่องเสียงวินเทจ จนทำให้ราคาเครื่องในปัจจุบันที่สูงอยู่แล้วจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก แต่อยากจะชักชวนนักเล่นบ้านเราเก็บเครื่องเสียงวินเทจที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในบ้านเรามากที่สุด หรือคิดว่าเป็นการลงทุนแบบฟุ่มเฟือย (Luxury Investment) อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะต่อให้บ้านเราไม่มีคนสะสม ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็ไล่กวาดเครื่องเสียงวินเทจเหล่านี้เข้ากรุสะสมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

ในตอนแรกเราจะมาดูเครื่องเสียงวินเทจที่เป็นปรีแอมป์ยอดนิยมก่อน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่โลกเครื่องเสียงวินเทจแบบง่ายสุดหากมีชุดเครื่องเสียงเดิมอยู่แล้ว และเป็นตัวที่ทำให้เปลี่ยนแนวเสียงของระบบเครื่องเสียงของเราได้มาก  เพราะสามารถนำเอาปรีแอมป์วินเทจมาต่อใช้งานกับชุดเครื่องเสียงเดิมที่มีอยู่ได้ทันที แล้วค่อยปรับเปลี่ยนชิ้นอื่นๆตาม ปรีแอมป์วินเทจที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ไม่ได้เรียงลำดับตามความนิยม มูลค่า หรือคุณภาพเสียง แต่กล่าวถึงตามลำดับที่นึกออกครับ

JBL SG-520 เป็นปรีแอมป์สเตอริโอโซลิตสเตจตัวแรกที่อยู่ในห้วงความคิด ใช้ชื่อเรียกทางการค้าว่า “Graphic Controller”  เนื่องจากบรรดาปุ่มปรับเสียงต่างๆจะเป็นแบบสไลด์ นักเล่าในบ้านเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับปรีแอมป์ตัวนี้มากนัก แต่นักเล่นชาวญี่ปุ่นชอบปรีแอมป์ตัวนี้มาก JBL SG-520 มีช่องโฟโน 2 ชุด รับสัญญาณระดับไลน์ 4 ชุด ช่องต่ออินพุตมีทั้งด้านหน้าเครื่อง และหลังเครื่อง

Marantz Model 1 Audio Consolette ปรีแอมป์โมโนหลอดใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 3 หลอด รับอินพุตโฟโน 1 ชุดปรับ EQ ได้หลายค่าเช่น AES RIAA 78 COL LP เป็นต้น รับสัญญาณระดับไลน์ได้ 4 ช่อง ต้องมีภาคจ่ายไฟภายนอก Marantz Model 4 การใช้งานเป็นสเตอริโอต้องมี Model 1 จำนวน 2 ตัวและ Model 4 จำนวน 2 ตัว การใช้งานอาจจะยุ่งยากหน่อยเพราะต้องปรับโวลุมแยกซ้ายขวา แต่ถ้าหา Marantz Model 6 Stereo Adapter มาต่อพ่วงได้ก็จะปรับโวลุมที่ตัว Model 6 เพียงตัวเดียว

Fisher 50C ปรีแอมป์โมโนหลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 2 หลอด 12AU7 จำนวน 1 หลอด รับอินพุตโฟโน 1 ช่องปรับ EQ ได้หลายค่า รับสัญญาณไลน์ 3 ชุด การใช้งานเป็นสเตอริโอต้องมี 50C จำนวน 2 ตัว เป็นปรีแอมป์โมโนตัวแรกๆที่มีภาคจ่ายไฟในตัว ซึ่งในยุคนั้นปรีแอมป์โมโนหลายๆตัวจะใช้ไฟเลี้ยงจากเพาเวอร์แอมป์เป็นส่วนมากเช่น McIntosh C4 C8, Dynaco PAM 1, Heathkit WA-P2 เป็นต้น การใช้งานอาจจะยุ่งยากหน่อยเพราะต้องปรับโวลุมแยกซ้ายขวา

McIntosh C8 ปรีแอมป์โมโนหลอดใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 3 หลอด รับอินพุตโฟโน 2 ชุดปรับ EQ ได้หลายค่าโดยการปรับสวิทช์เลื่อน ต้องอาศัยตารางการปรับในคู่มือเพื่อเลือกค่า EQ ที่ต้องการ รับอินพุตระดับไลน์ได้ 2 ชุด ไม่มีภาคจ่ายไฟในตัว ต้องใช้ McIntosh D-8 (เรคติฟายหลอด 5Y3) หรือ D-8A (เรคติฟายไดโอด) สำหรับจ่ายไฟ หากนำไปใช้กับเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่น ถ้าใช้เพาเวอร์แอมป์ McIntosh MC-30 สามารถพ่วงไฟเลี้ยงมาใช้งานได้เลย

Fisher 400CX2 ปรีแอมป์สเตอริโอ ใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 7 หลอด 12DW7/ECC832 จำนวน 2 หลอด และเรคติฟาย 6V4/EZ80 รับอินพุตโฟโน 2 ชุดเลือก EQ ได้หลายค่า รับสัญญาณระดับไลน์ได้ 4 อินพุต หน้าเครื่องของ Fisher 400-CX2 จะไม่เขียนว่าเป็น 400-CX2 แต่ให้ดูด้านหลังเครื่องจะมีเขียนบอกว่าเป็นรุ่น 400-CX-2 บางเครื่องด้านหน้าจะเขียนว่าเป็นรุ่น President, Regent ตามรุ่นคอนโซล

Marantz Model 7C ปรีแอมป์สเตอริโอ ใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 6 หลอด ภาคจ่ายไฟจะมีทั้งใช้โดโอดธรรมดา และซีลีเนียม เลขซีรีย์แรกๆจะใช้ภาคจ่ายไฟเป็นซีลีเนียม เป็นปรีแอมป์ที่ Sid Smith รับช่วงต่อ Saul Marantz น้ำเสียงจะต่างไปจากปรีแอมป์รุ่นแรกๆที่เป็นผลงานของ Saul Marantz ล้วนๆ ใน Marantz 7C แต่ละช่วงเลขซีรีย์พบว่าน้ำเสียงต่างกันค่อนข้างมาก ถ้าลองดูราคา 7C ในสนามประมูลแดนปลาดิบจะพบว่าราคาสวิงมากกว่าปรีแอมป์วินเทจตัวอื่นๆ นิยมเล่นเลขซีรีย์ต่ำๆ รับอินพุตโฟโน 2 ชุดเลือก EQ ได้หลายค่า รับสัญญาณระดับไลน์ได้ 4 อินพุต

McIntosh C20 ปรีแอมป์สเตอริโอใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 5 หลอด 12AU7/ECC82 จำนวน 2 หลอด และภาคจ่ายไฟ 6X4 จำนวน 1 หลอด รับอินพุตโฟโน 2 ชุดเลือก EQ ได้หลายค่าต้องอาศัยตารางปรับถ้าต้องการให้ตรงกับ EQ ของแผ่นเสียงนั้นๆจริงๆ รับสัญญาณระดับไลน์ได้ 4 อินพุต หน้าปัดจะมีสองแบบรุ่นแรกจะมีแถบทองเหลืองคาด รุ่นสองจะไม่มีแถบทองเหลืองคาด ด้านขวาเป็นเพลตทองเหลือง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

McIntosh C22 ปรีแอมป์สเตอริโอใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 6 หลอด ภาคจ่ายไฟมีทั้งใช้ซีลีเนียม และไดโอด เลขซีรีย์แรกๆจะใช้ภาคจ่ายไฟเป็นซีลีเนียม ตัวเก็บประจุสำหรับคัปปลิงสัญญาณมีทั้ง Sprague Bumble Bee ล้วน Sprague Black Beauty ล้วน และผสมทั้งสองรุ่น เลขซีรีย์แรกๆจะใช้เป็น Bumble Bee ล้วน นิยมหาเลขซีรีย์แรกๆ รับอินพุตโฟโนได้ 2 ชุดปรับ EQ ได้สองค่าคือ RIAA กับ LP รับสัญญาณระดับไลน์ได้ 4 อินพุต

Audio Research SP-3 ปรีแอมป์สเตอริโอ ใช้หลอด 12AX7/ECC83 จำนวน 8 หลอด รับอินพุตโฟโน 2 ชุด และระดับไลน์ได้ 4 ชุด เลือกบายพาสโทนคอนโทรลได้ Audio Research SP-3 จะมีไมเนอร์อีก 4 รุ่นนั่นคือ SP-3A, SP-3A1, SP-3B, SP-3C ปรับปรุงภาคจ่ายไฟ และวงจรเป็นลำดับรุ่นที่ปรับปรุงทั้งภาคจ่ายไฟ และอุปกรณ์ที่ดีที่สุดคือ SP-3B แต่พอเลยรุ่นนี้แล้วกลับให้เสียงต่างจากตัวอื่นในรุ่น

ยังมีปรีแอมป์วินเทจหลายๆตัวที่เสียงดี และมีแนวโน้มการเพิ่มมูลค่าเหมือนกับตัวดังๆที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เช่น Pilot SP-216 SP-210 FA-690, Grommes 208, Fisher 80C 90C 400CX เป็นต้น แต่หายไปจากสนามประมูลไปในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นว่าปรีแอมป์วินเทจยอดนิยมกลับมีหมุนเวียนในตลาดนักสะสมมากกว่า ถ้านักเล่นเครื่องเสียงวินเทจมีเวลาส่องราคาปรีแอมป์วินเทจตัวกลั่นๆจะพบว่ามูลค่าเพิ่มไปตามกาลเวลาตลอด จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการ และราคาปัจจุบันใกล้ถึงเพดานราคาหรือยัง