Tannoy Westminster Royal Mini Meeting (21 ม.ค 2559)

ลำโพงวินเทจฝั่งอังกฤษที่ครองใจนักเล่นมานานแสนนาน “Westminster Royal” เป็นระบบลำโพงที่ประสิทธิภาพสูงมากๆ และใช้แม่เหล็กหล่อโลหะผสม Alcomax 3 ไดร์เวอร์ความถี่สูงใช้ฮอร์นที่ยาวขึ้น เพื่อเพิ่มความยาวของทางเดินแม่เหล็ก ทำให้ลงตัวกับเสียงที่เกิดจากโหลดฮอร์นอะคูสติคบริเวณด้านหน้าตู้ ภายในตัวตู้มีโครงสร้างที่ซับซ้อน และสร้างมาเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถรีดประสิทธิภาพของไดร์เวอร์ Dual Concentric ออกมาได้มากที่สุด ตัวตู้ถูกสร้างขึ้นจากไม้อัดเบิร์ชเป็นโครงสร้างซับซ้อน และแข็งแรง ด้านหน้ามีฮอร์นโหลดทำหน้าที่เป็นปากฮอร์นสำหรับความถี่กลางต่ำ ตัวตู้ Westminster Royal จะมีความสูงกว่า Westminster HW  ทั้งด้านบนและด้านล่างตู้เป็นไม้วอลนัตแท้ลายเดียวกับด้านหน้าตู้ Westminster Royal นับเป็นลำโพงในฝันของนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจ ถ้าไม่อยากเสียเวลาควานหาตัว Original ก็ลองดูตัวปัจจุบัน Westminster Royal ที่ยังมีผลิตจำหน่ายอยู่ในซีรีย์ Prestige GR ซึ่งมีนักเล่นสองท่านใช้เล่นกับชุดวินเทจอยู่ เลยเป็นที่มาของ “ Tannoy Westminister Royal Mini Meeting” ในครั้งนี้

ชุดแรกจะเซ็ตให้ Westminster ให้เสียงในแบบออดิโอไฟล์ ประกอบไปด้วย Super Tweeter Tannoy ST-100 เพาเวอร์แอมป์ Ming-Da MC998-AB หลอดเพาเวอร์ไตรโอดยักษ์ 212 Push-Pull กำลังขับ 150 วัตต์ กรายๆวินเทจด้วยปรีแอมป์วินเทจระดับเบญจภาคี Marantz Model 7C Original ใช้แหล่งกำเนิดเสียงเครื่องเล่นซีดี Esoteric  K-01X เครื่องเล่นแผ่นเสียง EMT 930st หัวเข็ม Benz Micro ACE

โดยเจ้าของซีสเต็มตั้งโจทย์ไว้ว่า 1. Westminister ให้เสียงร้องดีจริงๆไหม? 2. ดอกลำโพง dual concentric สร้างเสียงเบสส์ลึกๆแน่นๆได้ไหม? 3. แอมป์หลอดสร้างเสียงเบสส์แบบมีอิมแพ็คแรงๆได้ไหม? เพลงที่เลือกเล่นก็จะเป็นแนวออดิโอไฟล์เกือบทั้งหมด เสียงที่ได้น่าประทับใจมากได้ทั้งไดนามิค อิมแพ็ค และรายละเอียดชิ้นดนตรียอดเยี่ยมมาก บางท่านก็เพิ่งจะเคยได้ยินอิมแพ็คแรงๆจากลำโพง Westminster Royal ที่เป็นงานออกแบบ

เมื่อสามถึงสี่สิบปีก่อนเป็นครั้งแรก ในอดีตลำโพง Westminster ถูกสร้างขึ้นมาให้มีน้ำหนักร้อยกว่ากิโลกรัม ก็เพื่อตอบสนองกับเสียงอัดแรงๆหนักหน่วง และเฉียบพลันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประสิทธิภาพของการให้ความถี่ต่ำที่ยากจะเชื่อได้ว่า Westminster ให้ได้ดีถึงขนาดนี้ แต่ต้องได้ซีสเต็มที่เหมาะสมจึงจะรีดเสียงออกมาได้แบบบรรยากาศงานแสดงเครื่องเสียงในอดีตว่า “นักฟังเพลงมักจะถูกตรึงอยู่หน้า Westminster ทุกครั้งที่ถูกนำออกแสดงตามงานโชว์ต่างๆ แน่หล่ะว่ามีคิวต่อแถวรอฟังกันเป็นหางว่าว” สลับมาเล่นแผ่นเสียงซึ่งเรียกบรรยากาศเสียงอะนาล็อกมาได้เต็มห้องฟังกันเลย น่าเสียดายที่ต้องเพราะต้องเผื่อเวลาเดินทางไปฟังซีสเต็มที่สอง เลยได้ฟังกันเพียงสองสามเพลงเท่านั้น

ชุดที่สองจะเป็นแนววินเทจกับแผ่นเสียงล้วนๆใช้เพาเวอร์แอมป์ DIY 300B ซิงเกิลเอ็นด์วงจรโด่งดังของ Western Electric 91A ใช้หม้อแปลงเอาต์พุต Tango FC-30 ปรีแอมป์วินเทจระดับเบญจภาคีเช่นกันใช้ McIntosh C22 Original เครื่องเล่นแผ่นเสียงแยกสองชุดเป็น Pure Mono ใช้เทิร์น Garrard 301 Schedule 2 อาร์มน้ำมัน Neat หัวเข็มโมโน Denon DL-102 ผ่าน SUT AKG อัตราขยายต่ำต่อเข้ากับ Phono GE UPX-003B เพื่อเพิ่มเนื้อเสียง และบรรยากาศให้กับหัวเข็ม Denon DL-102 (ปกติหัวเข็ม DL-102 เป็น MC High สามารถต่อเข้ากับโฟโน MM ได้เลย แต่เนื้อเสียงค่อนข้างบางไปหน่อย ถ้าได้ SUT อัตราขยายต่ำๆมาคั่นก็จะได้เสียงกลางที่อิ่มน่าฟังขึ้นเยอะครับ) ส่วนอาร์ม SME 3012 Series 2 ติดหัวเข็มโมโน Yamamoto Sound Craft YC-03S บอดี้ย์ไม้ไผ่ กับสเตอริโอ+โมโน

EMT 930st สลับเล่นหัวเข็มสเตอริโอ TSD-15 SFL และหัวเข็มโมโน TMD-25 ขนาดห้องฟังไม่ใหญ่มาก ฟังกันในแบบ Near Field เลยทีเดียว แต่ไม่น่าเชื่อว่าแอมป์ซิงเกิลเอ็นด์กำลังขับเพียง 8 วัตต์จะสามารถขับลำโพง Westminster ออกมาได้เต็มเสียง และน่าฟังมากๆ ที่สำคัญคือซอฟต์แวร์ที่ใช้ฟังนี่เด็ดๆทั้งนั้น แผ่นลูกกรุง ลูกทุ่งเก่าๆมากันครบกับงานเพลงชั้นครู สุเทพ ชรินทร์ ธานินทร์ มรว.ถนัดศรี ไพรวัลย์ รุ่งเพชร สวลี เพ็ญศรี ศรีไศล พิทยา ฯลฯ หาฟังยากได้ฟังกันเต็มอิ่มครับ ยังมีแผ่นแจ๊สเด็ดๆอีกให้ฟังหลายแผ่น ยอดเยี่ยมทั้งโมโน และสเตอริโอ แถมสมาชิกที่มาร่วมสังเกตุการณ์ยังพกแผ่นเด็ดๆมาให้ฟังด้วย โดยเฉพาะแผ่นไวนีลสปีด 78 ตรานกเอี้ยง เพลงไอ้หนุ่มเรือนแพ เรียกเสียงฮือฮา เมื่อเล่นผ่าน EMT 930st หัวเข็มโมโน TMD-25 ว่าเป็นไฮเรสฟอร์แม็ตของแผ่นดำกันเลยทีเดียว ในชุดสองเป็นการฟังแบบมิวสิคเลิฟเวอร์ที่สมาชิกทุกท่านร้องคลอกันได้ทุกเพลง ที่สำคัญคือมันเป็นบรรยากาศเสียงเพลงที่อบอุ่นอบอวลฟังสบายมากๆ

กับสองซีสเต็มที่ใช้ลำโพง Westminster Royal ผลิตใหม่เหมือนกัน แต่ให้เสียงที่แตกต่าง บรรยากาศเสียงน่าฟังไปกันคนละแบบ ที่น่าสนใจคือการเลือกใช้โทนอาร์ม เทิร์นเทเบิล และหัวเข็มที่เหมาะสมกับเพลงที่ฟัง จะช่วยให้การฟังเต็มอรรถรสมากขึ้นอักโข ในกลุ่มสมาชิกที่มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ในครั้งนี้มีตัวแทนนำเข้าของ Westminster Royal มาด้วย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่มีโอกาสได้ฟังลำโพง Westminster กับชุดเครื่องเสียงวินเทจล้วนๆ และวินเทจกรายๆ ไม่แน่ว่างานโชว์เครื่องเสียงครั้งต่อไป ท่านผู้อ่านอาจจะมีโอกาสได้สัมผัสเสียงจาก Westminster Royal ขับขานเพลงเก่า กับเครื่องเสียงวินเทจก็เป็นไปได้ครับ