ส่งการบ้าน Garrard 301 (13 ก.พ 2559)

สืบเนื่องจากการที่สมาชิกในกลุ่มนักเล่นมักแวะเวียนกันไปฟังบ้านโน้นทีบ้านนี้ที จนกระทั่งมาถึงห้องที่เล่นซีสเต็มที่เป็นวินเทจในยุคพัฒนาคือใช้เทคโนโลยีวินเทจมาสร้างเป็นของใหม่นั่นก็คือลำโพง GIP 5005 ที่ผลิตไดร์เวอร์ตามสเปคของ Western Electric ดั้งเดิมเลย (ซีสเต็มนี้ไว้เล่าต่อในวินเทจสัญจรตอนหน้านะครับ) แต่ที่ไปสะดุดหูสะดุดตาสมาชิกท่านหนึ่งเข้าก็คือเทิร์นเทเบิลของ Shindo เผอิญว่ามีเทิร์นรุ่นเดียวกันนี้อยู่พอดี  แต่ติดตั้งอาร์มสมัยใหม่เลยให้เสียงไม่ค่อยจะถูกใจในน้ำเสียงสักเท่าไหร่ ลองแอบกระซิบถามไถ่ราคา Shindo 301 ได้ความว่าปาเข้าไป 6 หลักปลายๆเกือบ 7 หลักเลยทีเดียว เลยเป็นทีมาของการนำเอา Garrard 301 ฝากกลับมาให้ผมทำการบ้านให้หน่อยครับว่าจะเข็นไปได้ถึงไหน

แท่น Garrard 301 ของเดิมมีความสวยงามอยู่แล้วเป็นไม้อัดเพาะเป็นชั้นๆลายอีโบนีย์ผิวไฮกรอสส์ เลยไม่จำเป็นต้องทำใหม่ แต่ที่ต้องทำใหม่คือเปลี่ยนอาร์มบอร์ดใหม่เป็นอะครีริคหนา 20 มม. จับพ่นสีเทาลายค้อนหน่อย เพื่อ เปลี่ยนอาร์มมาเป็น Ortofon RMA-309 เพื่อที่จะใช้กับหัวเข็ม Ortofon SPU-A ได้เหมือนกับเทิร์นของ Shindo 301 หัวเข็มก็ต้องเตรียมไว้สองหัวนั่นคือ SPU-AE Stereo กับ SPU-AE Mono และทำการสั่ง 20 mm. Oversize Upgrade Platter สีเทาลายค้อนจาก Classic Hifi เพื่อมาเปลี่ยนกับเพลตเตอร์เดิม เตรียมการบ้านมาได้ครึ่งทางคือเปลี่ยนโทนอาร์มแล้ว ได้หัวเข็ม SPU-AE Stereo แล้ว แต่เพลตเตอร์โอเวอร์ไซต์ยังเดินทางมาไม่ถึง (ภาพด้านล่างเทียบขนาด Oversize Platter กับขนาดปกติ) ก็เรียกน้ำย่อยกันก่อนครับ โดยนัดสมาชิกหลายๆท่านมาลองฟังกันว่า Garrard 301 ที่ผ่านการอัพเกรดมาได้ครึ่งทางนี้สุ้มเสียงเป็นอย่างไร

นัดหมายที่เดิมห้อง Tannoy Westminster ใช้แอมป์ MingDa 212 Push-Pull ปรีแอมป์ Marantz 7c รุ่นแรก ติดหัวเข็ม Ortofon SPU-AE Mono ไปด้วยอีกหัวเพื่อสลับฟังกับหัวสเตอริโอ และ MC Step Up Western Electric 618B แต่ทางเจ้าของห้องมี SUT ตัวอื่นให้ลองเล่นสลับไปๆมาๆก็มาลงที่ Tango MC Step Up ที่สั่งมาจากอีเบย์พร้อมกับ SUT อีกสองสามตัว

เหตุที่ไม่ใช้ WE 618B เนื่องจากเจ้าของซีสเต็มไม่มีครับ (ฮา)  เริ่มจากฟังแผ่นสเตอริโอกันก่อน น้ำเสียงแรกสามารถเรียกรอยยิ้มมุมปากจากสมาชิกที่เป็นแฟน Garrard 301 กันได้เลยทีเดียว เนื้อเสียง รายละเอียดชิ้นดนตรี เวทีเสียงดีมาก พอสลับมาเล่นหัวโมโนกับแผ่นโมโนเด็ดๆทีนี้ยิ้มแป้นกันเลยครับ เนื้อเสียงดิบข้นแผด แต่ไม่มีสากเสี้ยนเหมือนฟังหัวโมโนอย่าง GE RPX หรือ VR2 เพลงลูกกรุงเก่าๆอัดดีๆนี่มาได้เต็มเสียงฟังกันเคลิ้มเลยทีเดียวครับ เรียกว่าหลังจากผ่านประสบการณ์ฟังในครั้งนี้สมาชิกตามลอกการบ้านกันหลายคน เรียกว่าคนขายของในอีเบย์คงงงว่าจู่ๆทำไมคนไทยถึงได้แห่ไปซื้อโทนอาร์ม Ortofon RMA-309 กับหัวเข็ม Ortofon SPU-AE กันเยอะผิดสังเกต

ผ่านการตรวจการบ้านครึ่งทางมาแล้วก็ยก Garrard 301 กลับมาทำการบ้านต่อให้เสร็จ หลังจากที่เพลตเตอร์โอเวอร์ไซต์เดินทางมาถึงแล้ว ก็จัดการเปลี่ยนเอาเพลตเตอร์เดิมออก เทียบน้ำหนักกับขนาดกันแล้วตัวโอเวอร์ไซต์ใหญ่และหนักกว่ามาก การเปลี่ยนทำได้ไม่ยากคือถอดเพลตเตอร์เดิมออก แล้วใส่ตัวโอเวอร์ไซต์เข้าไปเลย Classic Hifi ออกแบบให้พอดีไม่โดนปุ่มปรับความเร็วรอบ วางแมตหนังกลับสีน้ำตาลลงไปนี่สวยลงตัวเลย เสียงละ??? ที่ฟังออกได้ชัดเจนคือเสียงอิ่มหนาขึ้นทันที เสียงเบสส์แน่นหนึบขึ้น ความชัดของรายละเอียดดีขึ้น ช่องไฟของชิ้นดนตรีชัดเจนขึ้น สะอาดขึ้น ได้เสียงในแบบออดิโอไฟล์ผสมวินเทจ

ซึ่งในระหว่างลองเทียบเสียงจากเพลตเตอร์เดิมกับโอเวอร์ไซต์ ก็มีสมาชิกท่านหนึ่งร่วมฟังด้วย คาดว่าคงได้ตามลอกการบ้านชิ้นหนึ่งครับ ที่น่าจะทำต่อไปก็คือการอัพเกรด Bearing เป็นของใหม่ที่ดีขึ้น แต่เท่านี้ผมว่าการบ้านชิ้นนี้ให้ความสมบูรณ์ของเสียงดีมากแล้วครับ กับอาร์ม Ortofon RMA-309 เพียงอาร์มเดียวตอบโจทย์การเล่นสเตอริโอ/โมโนได้ครบ ไม่ต้องติดสองอาร์มให้ยุ่งยาก เพียงสลับเปลี่ยนหัวสเตอริโอ/โมโนกันได้ง่ายๆ เพราะหัวเข็ม Ortofon SPU-AE ทั้งสองแบบมีน้ำหนักเท่ากัน ที่จะเพิ่มเติมก็การปรับแรงกดของหัวเข็มให้มากขึ้นหรือน้อยลงตามสเปคของหัวเข็มเท่านั้นเอง การบ้านชิ้นนี้ถือว่าเสร็จสมบูรณ์แต่ไม่ได้ไปส่งด้วยตัวเอง แต่ได้รับรายงานผลจากเจ้าของเทิร์นว่าฟัง Garrard 301 มีความสุขขึ้นมาก โดยเฉพาะกับโมโน ช่วงก่อนที่ได้ EMT 930st มานี่เล่นเอาฟัง Garrard 301 ไม่เพราะอยู่พักใหญ่ พอได้รับการบ้านที่เสร็จแล้วก็สบายใจกันเลยครับ ถ้าท่านมีเทิร์น Garrard 301 แล้วคิดว่ายังไม่พึงพอใจกับน้ำเสียง การบ้านชิ้นนี้ ลอกได้เลยครับ