สานต่อตำนานลำโพง Western Electric (28 ก.ค 2558)

ติดค้างจากวินเทจสัญจรตอนที่ผ่านว่าจะเอาเรื่องราวเกี่ยวกับลำโพง GIP 5006 มาเล่าสู่กันฟังในตอนนี้ครับ ต้องย้อนรอยไปถึงประวัติลำโพงในสายวินเทจอเมริกา พบว่าคอมเพรสชันไดร์เวอร์แถวหน้าของทำเนียบอย่าง JBL 375, Altec 288 ต่างได้รับแนวทางในการพัฒนาไดร์เวอร์มาจาก “Western Electric” ชื่อ…ที่เปี่ยมมนต์ขลังสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจ ซึ่ง GIP Laboratory ถือว่าเป็นสายตรงของการนำเอาเทคโนโลยีลำโพงวินเทจ Western Electric มาผลิตใหม่ จะมีทั้งไดร์เวอร์หลากหลายรุ่น ครอสส์โอเวอร์ และตู้ลำโพง ไปจนถึงระบบลำโพงที่พร้อมใช้งานทั้งในแบบของ Western Electric  ดั้งเดิม และแบบผสมผสานขึ้นมาใหม่

GIP 5006 คู่นี้เรียกได้ว่าเป็นแบบผสมผสาน  ทำให้ขนาดมีความเหมาะสมกับห้องฟังเพลงในปัจจุบันมากขึ้น GIP 5006 เป็นลำโพงสามทาง ไดร์เวอร์ทุกตัวเป็นระบบ Field Coil หรือไม่มีแม่เหล็กถาวร แต่ใช้การจ่ายไฟกระแสตรงเพื่อเลี้ยงขดลวดให้สร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมาใหม่ ทำให้เส้นแรงแม่เหล็กเหมือนกับแม่เหล็กทางอุดมคติมาก ตัวตู้รุ่น GIP-5006 เป็น Baffle ด้านหน้าเป็น W Horn และด้านหลังเปิดโล่ง มีผ้าขึงเป็นตัวกระจายเสียง วูฟเฟอร์ GIP-W4601 ขนาด 18” เสียงกลางเป็นฮอร์นไม้ GIP- 70W ติดตั้งคอมเพรสชันไดร์เวอร์ GIP-D5015 ใช้ทวีตเตอร์แบบฮอร์นติดคอมเพรสชันไดร์เวอร์ GIP-597A ตัดความถี่ผ่านครอสส์โอเวอร์เน็ตเวิร์ค GIP-6330 มี Attenuator แบบดั้งเดิมคือจะไม่เป็น L-Pad หมุนปรับค่าอย่างเน็ตเวิร์ครุ่นใหม่กว่าอย่าง Altec หรือ JBL แต่จะเป็นขดลวดความต้านทานหลายๆค่า ต่อเป็นแท็ปให้เลือกหลายๆจุด จะใช้ในการปรับทั้งเสียงกลาง และเสียงแหลม

ลำโพง Field Coil จะมีภาคจ่ายไฟตรง 7V สำหรับคอมเพรสชันไดร์เวอร์ และ 24V สำหรับวูฟเฟอร์ มีทั้งแบบบิวต์อิน และแยกชิ้น แยกชิ้นก็มีแบบดั้งเดิมที่เป็นหลอด Tungar และสมัยใหม่ที่ใช้ไดโอดสมัยใหม่ สำหรับ GIP-5006 คู่นี้จะเป็นแบบบิวต์อินลงในตู้เลย จะมีหม้อแปลงไฟ วงจรเร็คติฟายพื้นฐาน และขั้วต่อต่างๆมาให้เรียบร้อย โดยภาคจ่ายไฟทั้งหมดจะถูกหุ้มด้วยกล่องไม้ เพื่อติดตั้งภายในตู้ได้เลย

ตัวตู้เบสส์ ฮอร์นเสียงกลาง ชั้นวางทวิตเตอร์ และทวีตเตอร์ จะแยกชิ้นกันทั้งหมด แผงกระจายเสียงผ้าด้านหลังตู้เบสส์ถอดออกได้ใช้สักหลาดหนาเป็นตัวอัดยึดให้แผงกระจายเสียงติดแน่นกับหลังตู้ หลังจากประกอบตู้เบสส์เรียบร้อยแล้วจึงทำการยกฮอร์นเสียงกลางขึ้นวาง สามารถปรับตำแหน่งเดินหน้าถอยหลังได้ ซึ่งทาง GIP Laboratory จะมีระยะวางกำหนดให้มาด้วย ตามด้วยชั้นวางทวีตเตอร์ และทวีตเตอร์ ที่สามารถเลื่อนเดินหน้าถอยหลังได้เช่นกัน ซึ่งมีระยะที่กำหนดจากทาง GIP Laboratory ไว้แล้วเช่นกัน

ติดตั้งไดร์เวอร์เสร็จเรียบร้อยก็ทำการเชื่อมต่อสายต่างๆเข้ากับไดร์เวอร์แต่ละตัว เนื่องจากเป็นไดร์เวอร์แบบ Field Coil จะต่างกับลำโพงทั่วๆไป คือจะมีสายไฟเลี้ยงขด Field Coil เพิ่มอีกเส้นหนึ่ง ภาคจ่ายไฟจะมีแรงดันสองค่าคือ 7V 2 ชุด และ 24V 1 ชุด แยกจ่ายสำหรับไดร์เวอร์แต่ละตัว ทาง GIP Laboratory จะให้สายสำหรับการเชื่อมต่อมาสองแบบสาย Belden 9497 ส้มดำสำหรับการเชื่อมสัญญานเสียงเข้า Voice Coil และสายคู่ฉนวนสีดำสำหรับต่อเข้าขด Field Coil ต้องต่อให้ถูกต้องไม่เช่นนั้นขั้ว N S ของสนามแม่เหล็กจะสลับด้านกัน ส่วนสายต่อเข้า Voice Coil ก็ต่อเข้าเหมือนกับลำโพงปกติ คือมีบวกลบ แต่ไดร์เวอร์ยุคนี้จะใช้ตัวเลข 1 2 สำหรับการกำหนดจุดเริ่มต้นพันของลวด Voice Coil ต้องต่อตามรายละเอียดที่ทาง GIP Laboratory ระบุ แล้วค่อยต่อเข้ากับครอสส์โอเวอร์อีกที ขั้วต่อของครอสส์จะมี Jumper เพื่องโยงสัญญาณเสียงจากครอสส์เสียงกลาง แหลม และทุ้มเข้าด้วยกัน หมายความว่าครอสส์โอเวอร์เน็ตเวิร์คนี้รองรับการเล่นไบแอมป์ และไตรแอมป์ ได้เลย สำหรับเสียงกลาง และเสียงแหลม จะต้องต่อผ่านกล่อง Attenuator ก่อนเพื่อให้สามารถปรับความดังได้

เมื่อทุกอย่างพร้อม GIP 5006  ก็พร้อมที่จะเปล่งเสียงดนตรี ที่เปี่ยมด้วยมวลเสียง บรรยากาศ และสปีดเสียงที่เที่ยงตรงออกมา เสียงแรกที่ฟังหลังการติดตั้งครั้งแรก (28 ก.ค 2558) เล่นกับปรี/เพาเวอร์แอมป์หลอดของ Shindo เนื้อเสียงมีแววดีมาก สมกับเป็นทายาทสายตรงของสุดยอดลำโพงวินเทจ ผ่านเวลามานับตั้งแต่วันติดตั้งครั้งแรกจนถึงวันที่ผมเล่าให้ท่านอ่านครั้งนี้ ผ่านการแมตชิ่งไปหลายต่อหลายชุด กว่าจะได้เสียงที่ลงตัวใช้เวลามานานพอสมควร ซึ่งบรรยากาศการทดลองแมตชิ่งหลายๆครั้งก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะหาโอกาสมาเล่าให้ท่านอ่านในโอกาสครั้งต่อไปครับ