ตำนานมอนิเตอร์ฝั่ง UK (1 พ.ค 2559)

วินเทจสัญจรตอนนี้พาไปเยี่ยมชมห้องฟังของดีเจนักคิดนักเขียนนักแต่งเพลง ฯลฯ ท่านหนึ่งที่ชื่นชอบลำโพงฟากฝั่งอังกฤษเป็นพิเศษ เนื่องเพราะในห้องเดียวมีทั้ง Tannoy Westminster และ Buckingham Monitor อยู่ในห้องเดียวกัน!!! จุดเด่นของลำโพงมอนิเตอร์ค่าย Tannoy ที่เราท่านนึกออกในทันทีคือ เป็นนวัตกรรมลำโพงที่มีไดร์เวอร์ดอกเดียว มีทวีตเตอร์อยู่ตรงกลางวูฟเฟอร์ ให้เสียงได้ถูกต้องแม่นยำจากแหล่งกำเนิดเสียงเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเรียกว่าลำโพงแบบ “Dual Concentric” เป็นไดร์เวอร์ที่แตกต่างไปจากดอกลำโพงอื่นๆในอุตสาหกรรมการผลิตลำโพง เนื่องจากเป็นการสร้างให้ตรงกลางของวูฟเฟอร์จะมีทวีตเตอร์ทำงานร่วมกันในการสร้างเสียงเพลงออกมาแบบแกนกำเนิดเสียงเป็นหนึ่งเดียวกัน ผู้ผลิตลำโพงชั้นนำอย่างต่างก็ทราบถึงจุดเด่นของการวางไดร์เวอร์ในรูปแบบแกนร่วม หรือจัดวางให้วูฟเฟอร์ และทวีตเตอร์เป็นจุดกำเนิดเสียงจากจุดเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีผู้ผลิตรายได้ค้นพบทางออกของปัญหาทางวิศวกรรมอะคูสติคของไดร์ เวอร์แบบแกนร่วมได้สำเร็จ จนกระทั่ง Tannoy ได้สร้างลำโพงแบบ Dual Concentric ขึ้นมา

Tannoy ก็จะใช้ไดร์เวอร์แบบ Dual Concentric เป็นหลักในพัฒนาทั้งลำโพงมอนิเตอร์และลำโพงบ้านของ ในหนึ่งห้องนี้จะมีลำโพงหลักถึงสองคู่นั่นคือ Tannoy Westminster ที่ใช้สำหรับฟังเพลงร้องเน้นการฟังแบบบรรยากาศสบายๆ และ Tannoy Buckingham Monitor เป็นหนึ่งเดียวที่มีการใช้ระบบอะคูสติคเลนส์ร่วมกับไดร์เวอร์ Dual Concentric ขนาด 8”  และวูฟเฟอร์ขนาด 12” สองตัว ให้เสียงสดหนักแน่นสำหรับฟังเพลงร็อคหนักๆได้สบายๆ

ใช้เพาเวอร์แอมป์ Cary Audio 805 SE จัดเต็มด้วยหลอดไดร์ว Western Electric 300B กล่องไม้  หลอดเพาเวอร์ VT-4C RSC หลอดปรี/ไดร์ว 6SN7 สามารถปรับระดับการป้อนกลับได้ในกรณีที่อยากฟังจังหวะกระชับขึ้น ปรีแอมป์ McIntosh C22 ทางเจ้าของห้องอยากฟัง Marantz Model 1 เป็นตัวเทียบ เลยติดไปลองฟังด้วยครับ ใช้แหล่งกำเนิดเสียงสองตัวสลับกันฟังระหว่างดิจิตอลเครื่องเล่นซีดี Cary Audio CD 303 และอะนาล็อคเทิร์น Thorens TD-124 MKI อาร์ม SME3009 S2 Improved หัวเข็ม Shure M3d สามารถลลับลำโพงไปมาได้ง่าย เพราะมีตัวสวิทช์สำหรับเลือกเล่นลำโพงแต่ละคู่ หรือเลือกเล่นทีเดียวสองคู่ก็ยังได้ครับ

การมีลำโพงสองบุคลิกตอบโจทย์การฟังเพลงของเจ้าชองห้องได้มาก และยิ่งเล่นกับปรีแอมป์ Marantz Model 1 นี่เรียกว่าติดปีกให้กับทั้งระบบเลยทีเดียว ซึ่งสนุกกันทั้งเจ้าของห้อง และผู้มาเยี่ยมเยือนห้องนี้ครับ ค้นแผ่นมาฟังกันสนุกสนาน ยิ่งทราบว่าเพลงที่เคยได้ยินได้ฟังหลายๆเพลงในอดีตนั้นล้วนแต่เป็นการแต่งเนื้อร้องโดยเจ้าของห้องล้วนๆ ก็คุยกันได้สนุกสนานมาก เจ้าของห้องยังได้หยิบเอาอัลบั้มที่เคยทำในอดีตมาเปิดให้ฟัง เพราะจำได้แม่นยำตอนอัดเสียงว่าวางไมโครโฟนอย่างเล่น บางเพลงเล่นแบบอัดพร้อมกันหมดมีเล่นหลุดตรงไหนบ้างจำได้หมดเลย แต่ทำการผลิตเฉพาะเทปกับซีดีจำหน่ายในยุคที่แผ่นเสียงโรยรา ทราบมาว่ามาสเตอร์ที่เป็น DAT ยังอยู่ และมีแนวคิดจะผลิตออกมาเป็นแผ่นเสียงในอนาคตซึ่งน่าสนใจมากครับ ลองไปหาอัลบั้ม “ไม่ใช่พระเอกในนิยาย เป็นได้แค่ นายนกเขา” มาฟังดูครับ อาจจะหายากสักหน่อยครับ แต่อัดเสียงได้บรรยากาศดีมากอัลบั้มหนึ่งเลยครับ