Altec A5 & Jazz Mono (13 มี.ค 2559)

วินเทจสัญจรเที่ยวนี้บุกไปพัทยาไปเยี่ยมห้องฟังของคุณหมอท่านหนึ่ง เป็นนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจที่มาถึงเสียงที่ต้องการในช่วงเวลาไม่นานนัก เท่าที่จำได้ว่าคุณหมอเริ่มต้นจากการเดินหาเครื่องเสียงสำหรับมาฟังเพลงตามห้างร้านทั่วๆไป มีทั้งซื้อมาทดลองเล่นก็ยังได้เสียงไม่ถูกใจเสียที จนกระทั่งวันหนึ่งกลุ่มก๊วนนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจมีนัดกันที่โรงเตี๊ยมตาสว่าง ซึ่งเป็นบ้านของนักเล่นท่านหนึ่งที่นำเอาเครื่องเสียงวินเทจนอกกระแสมาเล่น ทำให้เหล่าสมาชิกได้เปิดหูเปิดตากับเครื่องเสียงวินเทจนอกกระแสมากมาย เลยเชิญชวนคุณหมอท่านนี้ไปเข้ามาฟังด้วยกัน หลังจากฟังเสียงจากเครื่องเสียงวินเทจแล้วก็พบคำตอบของแนวเสียงที่ค้นหา วิ่งตามเก็บเครื่องเล่นวินเทจหลายต่อหลายชิ้นโดยมีลำโพงตัวแรกที่เป็นตัวเริ่มต้นระบบนั่นก็คือ Altec A5 Voice of the Theatre

แนวเพลงที่ฟังหลักๆก็จะเป็นแผ่น Jazz พวกแผ่น Bluenote, Prestige ปั้มแรกๆซึ่งเป็นโมโนเกือบทั้งหมด และเพลงไทยลูกทุ่ง/ลูกกรุงซึ่งก็มีทั้งสเตอริโอ และโมโนปนเปกันไป ลำโพง Altec A5 สามารถตอบโจทย์แนวเพลงที่ฟังได้ทั้งหมด แต่กว่าจะได้เสียงที่ต้องการ Altec A5 คู่นี้ก็ผ่านการปรับแต่ต่างจากเดิมไปโขครับ เริ่มต้นทีแรก  Altec A5 คู่นี้จะใช้อุปกรณ์หลักดังนี้ ตู้เบสส์ 828, วูฟเฟอร์ 515B, คอมเพรสชันไดร์วเวอร์ 288C, ฮอร์น 10 ช่วง 1005B และครอสส์โอเวอร์ N500C

ถ้าท่านได้มีประสบการณ์การเล่นลำโพง Altec A5 น่าจะเข้าใจครับว่าเสียงแรกที่ไม่ผ่านการปรับปรุงใดๆมันจะให้เสียงกลางจัด และเบสส์ไม่ค่อยมี ก็เริ่มต้นจากขั้นแรกให้หาวิธีหรี่ฮอร์นให้ได้ก่อน เพราะเดิมทีลำโพง Altec A5 จะถูกติดตั้งหลังจอภาพยนตร์ แม้จะมีตัวปรับลดความดังแต่ก็ยังไม่พอสำหรับการฟังเพลงในบ้าน ก็ต้องเพิ่ม L-Pad คั่นไดร์วเวอร์ 288C เพื่อให้สามารถปรับลดความดังของฮอร์นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เนื่องจากตำแหน่งที่วางเครื่องเล่นกับลำโพงห่างกันค่อนข้างมาก คุณหมอเลือกที่จะลากสายลำโพงยาวๆแทน ซึ่งผ่านการทดลองจากสายวินเทจยอดนิยม Belden 9497 ส้มดำตีเกลียว จนมาจบที่สาย Western Electric 18ga เก่าๆ หลังจากที่ปรับเสียงเริ่มเข้าที่เข้าทางช่วงนั้นมีฮอร์น 15 ช่วง Altec 1505B โผล่มาให้ซื้อในอีเบย์  ก็ได้ทำการสั่งซื้อเพื่อนำมาเปลี่ยนกับฮอร์น 10 ช่อง เสียงที่ได้ดีขึ้นมามากมายทั้งความอิ่ม บรรยากาศเสียง ความโอ่อ่าของเสียง ฮอร์น Altec 1505B มีทรงฮอร์นที่ค่อนข้างกลมจะให้การกระจายเสียงได้ดีกว่า 10 ช่องปกติหลายเท่า ข้อเสียก็มีครับคือหายากมากๆ–ฮา

ต่อมาก็ทำการเพิ่มทวีตเตอร์เพื่อต่อปลายเสียงแหลมให้กับฮอร์น นอกจากจะได้เสียงแหลมที่มีประกายขึ้นแล้ว ทวีตเตอร์ยังช่วยให้เราได้ยินเสียงเบสส์ได้ชัดเจนขึ้น ปกติจะนิยมใช้ทวีตเตอร์หัวกระสุน JBL 075 แต่กับซีสเต็มนี้คุณหมอเลือกใช้ทวีตเตอร์ปริซึม JBL 077 เพื่อให้เสียงแหลมเจือเสียงในแบบสมัยใหม่เข้าไปด้วย เพาเวอร์แอมป์ Pilot  SA260, Stromberg Carlson AP50 จนมาจบที่ McIntosh MC-60 แต่ปรีแอมป์นี่ผ่านหลายตัวมากกว่าจะเจอที่ต้องการไม่ว่าจะเป็น McIntosh C20, McIntosh C22, Fisher 400CX2, Fisher 50c, Pilot FA960,  Pilot SP210, Pilot SP216 และมาจบที่ Marantz Model 7c ที่เห็นที่เรียงเป็นตับทองอร่ามทั้งชั้นนั่นแหละครับ–ฮา

เทิร์นแยกสองตัวสำหรับเล่นสเตอริโอจะเป็น Garrard 301 Schedule 2 ติดอาร์ม SME 3012 S2 หัวเข็ม Ortofon SPU Meister ผ่าน Ortofon ST-80 SE สำหรับขยายสัญญาณหัวเข็ม MC ส่วนการเล่นโมโนจะใช้เทิร์น Russco Cue Master ติดตั้งอาร์มน้ำมัน Carlard หัวเข็มโมโน Denon DL-102 กับอาร์มสปริง Gray Research 103-SL หัวเข็มโมโน GE RPX

น้ำเสียงของซีสเต็มนี้หลังจากที่ผ่านกระบวนการแมตชิ่งปรับแต่งเสียงในแนวทางของคุณหมอ ต้องบอกว่ามันมีชีวิตชีวามากครับ บรรยากาศเสียงเหมือนฟังการแสดงสด เสียงมาได้เต็มๆเนื้อๆตลอดย่านความถี่ แม้สถานที่ฟังเป็นโถงของบ้านซึ่งจะไม่มีผนังด้านขวา แต่ Altec A5 เซ็ตอัพนี้กลับเอาได้อยู่หมัด สามารถฟังเพลงได้กว้างหลากหลายสไตล์ตั้งแต่เพลงไทยลูกทุ่ง/ลูกกรุงเก่าๆ แจ๊สโมโนที่ดิบข้น ป๊อป/ร็อคเก่าๆได้บรรยากาศดีมาก ตอบโจทย์การฟังเพลงที่ลงตัวมากครับ