RCA 50 คู่กัด WE300B

ในยุคเฟื่องของหลอดสนามแข่งขันของบรรดาผู้หลิตหลอดนิยมไปฟาดฟันกันนัก ก็คือโรงภาพยนตร์นั่นเอง ในสมัยก่อนเชื่อมั้ยครับว่าหลอด 2A3 นี่ใช้เป็นแอมป์โรงหนังกัน เนื่องจากว่าลำโพงสมัยก่อนออกแบบให้ใช้งานกับแอมป์หลอดจึงมีความไวสูง ทำให้ใช้แอมป์กำลังขับ 3-4 วัตต์ ก็ลั่นโรงแล้ว แต่วันดีคืนดี Western Electric ก็สร้างแอมป์หลอดที่กำลังขับทะลุ 10 วัตต์ขึ้นมา คือ Model 86 แอมป์พุชพูลกำลังขับ 15 วัตต์ และ Model 91 แอมป์ซิงเกิลเอ็นด์กำลังขับเกิน 5 วัตต์ ทั้งสองรุ่นใช้หลอด WE300B ครับ เล่นเอาค่าย RCA ระส่ำระส่ายไปพอสมควร จะนิ่งเฉยให้ Western Electric รุกอยู่ฝ่ายเดียวได้อย่างไร ทีมวิศวกร RCA ก็ทุ่มเทวิจัยหลอดออกมาเบอร์หนึ่ง เพื่อเป็นหมัดเด็ดที่จะต่อกรกับ WE300B ได้นั่นก็คือหลอดเบอร์ 50

แต่กว่าหลอด 50 จะออกสู่ตลาดก็เป็นยุคโรยราของแอมป์หลอดไปซะแล้ว ทำให้หลอดเบอร์ 50 มีการผลิตออกมาจำนวนไม่มาก และค่อยๆจางหายไปกับกาลเวลา แต่บรรดานักเล่นแอมป์หลอดกลับค้นพบว่าหลอด 50 นี้ให้สุ้มเสียงอิ่มใหญ่ไพเราะน่าฟังมาก และความรู้เรื่องหลอด 50 แพร่หลายออกไปในวงกว้าง ทั้งบทความในวารสารต่างๆทั้งในอเมริกา และญี่ปุ่น ที่พูดถึงหลอดเบอร์นี้ในเชิงบวกค่อนข้างมาก ทำให้นักเล่นทั่วโลกมะรุมมะตุ้มกันแย่งซื้อหลอดเบอร์ 50 เก็บกันชนิดว่า ใครได้ไปแล้วไม่มีการนำกลับมาขายในตลาดมากเท่าเบอร์อื่นๆ ทำให้หลอดเบอร์ 50 ไม่เพียงเป็นหลอดที่มีราคา แต่ยังเป็นหลอดที่หายากมากเบอร์หนึ่ง

หลอดเบอร์ 50 เป็นหลอดเพาเวอร์ไตรโอด ใช้ไฟจุดไส้หลอด 7 โวลต์ กำลังขับรีดออกมาได้ประมาณ 5 วัตต์ ผลิตในตอนแรกโดย RCA จะมีทั้งทรง ST-19 (หรือทรงโค๊ก) ขนาดแก้วเท่ากับ 300B ทำโดย RCA ทรง ST-16 (ทรงโค๊กเช่นกันแต่เล็กกว่า) ทำโดย Sylvania  และทรงบอลลูน (หรือ Globe) จะเป็นเบอร์ UX-250 และ CX-350 โครงสร้างเพลทเป็นเพลทเดี่ยว (Single Plate) ทำโดย RCA เช่นกัน อาจจะพบหลอดทรง ST-19 ที่ทำโดย Kenrad, National Union แต่คาดว่าน่าจะผลิตโดย RCA และทรง ST-16 ยี่ห้อ Philco, Zenith แต่คาดว่าน่าจะผลิตโดย Sylvania สุ้มเสียงของหลอดแต่ละทรงก็แตกต่างกันออกไป ทรง ST-19, Globe ให้เสียงอิ่มใหญ่นุ่มนวล ในขณะที่ทรงหลอด ST-16 ให้เสียงสดและจัดกว่า

หลอด 50 ที่โผล่มาขายตามอีเบย์ หรือตามเว็บต่างๆ โอกาสน้อยมากที่จะมาเป็นคู่ ถึงแม้จะเจอเป็นคู่ ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะมีแก๊สวาบๆ(พร้อมเสียงฟึ๊บๆ)หรือไม่ ราคาก็ประมาณ 200-300 ยูเอสดอลลาร์ต่อหลอดสำหรับทรง ST แต่ถ้าเป็นทรงบอลลูนราคาเกิน 400 ยูเอสดอลลาร์ ถ้ามาเป็นคู่ก็ราคาหายห่วงครับ ถึงแม้จะเป็นหลอดหายากราคาสูงแล้ว หลอดเบอร์นี้ยังถือว่าเป็นหลอดที่น่าสนใจอยู่ดีครับ

ผมมีโอกาสได้ทำแอมป์เบอร์ 50 ขึ้นมาตัวหนึ่ง เลยเอามาเล่าสู่กันฟังครับ วงจรผมปรับมาจาก 300B SE ของ Valve World  ที่ใช้หลอด WE717A ขับ WE311B ผ่าน Interstage Transfromer เพื่อขับ 300B ผมเปลี่ยนจาก 300B มาเป็น 50 ส่วนหลอดเร็คติฟายใช้เบอร์ 83 ครับ เพื่อเติมความสดใสของกลางแหลมขึ้นมาอีกนิด ส่วน Interstage Transfromer ใช้ Tango NC-14 ส่วน Output Transfromer ใช้ Tango U-808 ซึ่งเป็น Tango เดิมไม่ใช่ ISO ทำครับ ในวงจรใช้ C Coupling เพียงแค่ 1 จุดคือ WE717A มายัง WE311B ผมใช้ Jensen Paper in Oil 0.33uF

พูดถึง WE311B ผมว่าเป็นหลอดที่ยังจับต้องได้ เพียงแค่หายากกว่า WE310A นิดหน่อย แต่ราคากลับถูกกว่ากันหลายเท่าเลยครับ คุณสมบัติของหลอดก็เหมือนๆกัน ต่างกันแค่ขาหลอดเท่านั้นเอง ถ้าใครอยากทำ Model 91 และอยากสัมผัสหลอด Western Electric แท้ๆ ลองชม้ายมามองพระรองอย่าง WE311B ก็ไม่เลวนะครับ

สุ้มเสียงจากแอมป์เบอร์ 50 ออกแนวนุ่มเนียน เสียงอิ่มใหญ่ เนื้อเสียงกลางดี แหลมมีความกังวาน ปริมาณเสียงเบสส์ให้ออกมาเหลือเฟือครับ ใครอยากได้แอมป์ที่ให้สุ้มเสียงโบราณละก้อเบอร์ 50 ให้ได้แน่นอนครับ ว่าแต่.. จะหาหลอดที่ไหนมาทำกันครับเนี่ย