211&845 Big Triode

นับตั้งแต่ที่มีการทดลองสร้างหลอดไตรโอดในปี 1917 General Electric หรือ GE ก็ได้เริ่มพัฒนาหลอด ‘Type U Pliotron’ เพื่อใช้ในการส่งคลื่นวิทยุทางการทหาร เรียกว่าหลอดเบอร์ CG1144  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้มีการบรรจุระบบวิทยุรับส่งที่ใช้หลอดเบอร์นี้ลงในเครื่องบินที่แล่นบนผิวน้ำ หลังจากสงครามจบลงหลอด Type U ก็กลายมาเป็นเบอร์ UV-203 เริ่มถูกนำออกสู่ตลาดโดย RCA ในปี 1921 เป็นหลอดที่ผลิตโดย GE ถูกนำมาใช้งานกับเครื่องส่งวิทยุเอเอ็ม เป็นหลอดที่มีค่ามิวเท่ากับ 25 ไส้หลอดเป็นทังสเตนบริสุทธิ์ ในสมัยแรกหลอด 203 เป็นหลอดเครื่องส่งขนาดใหญ่ที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรม หลอด 203 ที่ใช้ไส้หลอดเป็นทังสเตนล้วนๆยังถูกผลิตออกมาโดยใช้เบอร์หลอดเฉพาะด้วยเช่น PG132 และ HW15

หลอดเพาเวอร์ในยุคหลังจะเป็นใช้ฐานหลอดมาตรฐานที่ง่ายต่อการถอดเปลี่ยน เป็นฐานหลอดสี่ขามีขาล็อคข้างฐานหลอดเรียกว่า Bayonet-lock พัฒนาโดย Western Electric เรียกว่า Jumbo Bayonet แต่หลอด 203 จะถูกติดตั้งลงโครงยึดหลอด และใช้ขั้วธรรมดายึดกับขาหลอดโดยตรง

ต่อมามีการค้นพบ Thorium ซึ่งได้มีการพัฒนาเพื่อใช้กับอุตสาหกรรมหลอด ในปี 1923 RCA และ Westinghouse ก็ได้ส่งหลอด UV-203A เข้าสู่ท้องตลาด เป็นหลอดเครื่องส่งเบอร์แรกที่ใช้ไส้หลอดแบบ Thoriated-Tungsten มีอัตรากำลังสูงถึง 100W นิยมใช้งานกันแพร่หลายมาก ต่อมาก็ถูกลอกเลียนหรือดัดแปลงโดย Amperex, Deforest, GE, Syvania และ Taylor

203H ที่ใช้งานทางการแพทย์ในการบำบัดด้วยการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความร้อนในร่างการเพื่อรักษาโรคบางชนิด จะมีแคป หรือหัวจุกสำหรับเพลท และกริด, 303A เป็นหลอดของ United Electronics, T-125 ของ Taylor จะมีอัตรากำลังสูงถึง 150W ค่ามิว 25 มีเพลทแคป และกริดแคป, 295A ของ Western Electric ในปี 1933, T-203Z ของ Taylor ที่มีค่ามิว 85 ยังมีอีกหลายเวอร์ชันที่ไม่ได้กล่าวถึง การได้รับความนิยมของหลอดเบอร์นี้ทำให้ ขาหลอดแบบ 4 ขาสร้างขึ้นจากซีเมนต์ กลายมาเป็นมาตรฐานทางการอุตสาหกรรมหลอดเครื่องส่ง ยกเว้นหลอด WE-203 จะมีฐานหลอดเล็กกว่าหลอด 203 จากผู้ผลิตรายอื่นๆ

จนกระทั่งมีหลอด 211 ถูกพัฒนาขึ้นโดย Western Electric ใช้ชื่อเรียกว่าซีรีย์ G เริ่มปลายปี 1921 เบอร์ 211A เริ่มเข้าสู่ตลาด ต่อมาในปี 1923 ก็ถูกลอกเลียนแบบโดย Westinghouse และทำตลาดโดย RCA หลอด 211 มีค่ามิวเท่ากับ 12.5 ถูกใช้งานในเครื่องส่งวิทยุ และออดิโอมอดูเลเตอร์ โครงสร้างหลอดจะดูทื่อๆ มีตัวพยุงหลอดในการใช้งาน หลอด 211 ถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรม และทางการแพทย์

หลอด 211 ที่ผลิตโดย Western Electric เริ่มจาก 211A ตามมาด้วย 211B, C และ D ตามลำดับ หลอดจะเหมือนกันหมด ต่างกันเพียงเกรดของไส้หลอดที่ใช้ผลิต หลอด 211E ที่ดังกระฉ่อน ถูกใช้ในแอมป์โรงหนังรุ่น WE43A ใช้ไส้หลอดเป็นลวดนิโครมสองเส้น ทำงานที่ความถี่สูงได้ดีมาก และเป็นที่หมายปองสำหรับนักสะสมหลอด

หลอด211 เวอร์ชันอื่นๆรวมไปถึง WE242A ถูกใช้งานในแอมป์รุ่น 80A ต่อมาหลอด WE242B, C  ก็ถูกพัฒนาขึ้นโดยเน้นไปที่การใช้งานทางด้านออดิโอเป็นหลัก โดยเฉพาะ  WE242C พบว่าถูกใช้งานในแอมป์มอนิเตอร์ของระบบกระจายเสียงรุ่น D-90684 ส่วนหลอด WE261A ถูกนำไปใช้ในระบบเครื่องส่งวิทยุเอเอ็ม  ตามด้วยหลอด WE276A ที่รับกำลังได้สูงถึง 100W และหลอด 214A, D และ E จะเป็นหลอดที่เหมือนหลอด 211 แต่ไม่มีกริด ถูกใช้เป็นหลอดเรคติฟาย ส่วน RCA 217C ที่ผลิตในปี 1926 จะเหมือนกับหลอด 214E แต่มีเพลทแคป ส่วน 211H ของ Amperex ก็เช่นกันจะมีเพลทแคปด้วย ส่วน United ผลิตหลอด 311 ซีรีย์ (311CH จะมีเพลทแคป) จะใช้งานในเครื่องส่งวิทยุเป็นหลัก ต่อมาในปี 1937 ทาง RCA ได้พัฒนาหลอด 835 ที่มีค่าคาปาซิแตนซ์ต่ำ สามารถใช้งานในย่าน VHF ได้ดี และหลอด 838 ที่มีค่ามิวสูงแบบปรับค่าได้ (variable-high-mu) สำหรับการใช้งานแบบซีโรไบอัสของแอมป์คลาสบี (หลอดที่สามารถปรับค่ามิวได้จะมีความเพี้ยนสูงถ้าเอามาต่อเป็นแอมป์ซิงเกิลเอ็นด์) และหลอด VT-4C ผลิตโดย GE ก็ออกสู่ตลาดในปี 1938 ถึง 1945 ใช้งานหลักในระบบเครื่องส่งวิทยุการบิน และเป็นหลอดที่มีเหลือเยอะที่สุดหลังสงครามโลก

หลอด RCA 805 และ WE331A ต่างก็เป็นหลอดค่ามิวสูงแบบปรับค่าได้ นำมาใช้เป็นภาคขยายคลาสส์บี สำหรับภาคออดิโอมอดูเลเตอร์ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นหลอดเบอร์ 810 ส่วนทาง Taylor ก็มีหลอดเบอร์ T-125, T-155, T-200, T-814 และ T-822 ซึ่งก็ใช้งานต่างกันออกไป

ส่วนหลอดเบอร์ 845 เป็นหลอดที่พัฒนาในยุคหลังสุด เชื่อกันว่าถูกพัฒนาขึ้นโดย RCA ในปี 1927 แต่ไม่ได้นำออกสู่ตลาดจนกระทั่งปี 1931 ถึงมีหลอด UV845 ออกมา ในยุคทองของระบบเครื่องวิทยุนั้นหลอดส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจะเป็นแบบค่ามิวสูง กำลังสูงๆ ทำงานแบบกราวด์กริด หรือคลาสส์บี เป็นหลัก แต่หลอด 845 กลับผลิตออกมาต่างออกไปเพราะมีค่ามิวเท่ากับ 4.8 และำรับกำลังได้ 75W แต่ภายหลังก็ได้ปรับปรุงให้รับกำลังได้ถึง 100W ทำให้หลอด 845 เป็นหลอดที่ขับยากกว่าหลอดเบอร์อื่นๆ ทำให้เลิกใช้งานไปหลังปี 1945 แต่ก็มีเครื่องออดิโอมอดูเลเตอร์ของ RCA ซีรีย์ BTA ที่ยังใช้หลอด 845 อยู่ โดยทำงานเป็นคลาสส์เอแบบพุชพูล เครื่องส่งวิทยุที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีใช้งานกันแพร่หลายทั้งกระจายเสียงเพลง และข่าวสารต่างๆให้กับชาวอเมริกันนับล้านคน และใช้ในเครื่องขยายเสียงในยุคเฟื่องของเพลง R&B, Gospal ผ่านทางแอมป์พุชพูล 845 ของ Altec, RCA และ WE แอมป์ที่ใช้หลอด 845 ก็ยังมีใช้งานในโรงหนังอยู่สองสามรุ่นในช่วงปี 1930 ถึง 1940

หลอด WE284 จะคล้ายกับหลอด 845 ถูกใช้งานในระบบเครื่องส่งเอเอ็ม ยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆที่ผลิตหลอด 845 ด้วยแต่ก็ไม่ได้มีมากเหมือนหลอด 203 หรือ 211 เนื่องจากหลอด 845 มีค่ามิวต่ำจึงมักใช้งานในภาคเพาเวอร์ออสซิลเลเตอร์ของเครื่องส่งเป็นหลัก มีการผลิตต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปี 1950 หลอดส่วนใหญ่ก็นำไปใช้เปลี่ยนในเครื่องส่งวิทยุเอเอ็ม

ภายหลังหลอดเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยหลอดมิวสูงๆที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ในปี 1980 เช่นหลอด 811A, 572B, 3-500Z แต่หลอด 845 กลับขยับตัวเองไปนั่งในตำแหน่งของแอมป์หลอดของเหล่าออดิโอไฟล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย

ปัจจุบันหลอด 211 และ 845 ได้ผ่านกาลเวลามากว่า 70 ปี โดยยังคงเส้นคงวาในความนิยมในการใช้งานในแอมป์หลอด มาตั้งแต่ปี 1950 ราคาหลอดก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆจนกลายเป็นหลอดราคาสูง ถ้าอยากเล่นหลอดเบอร์นี้ก็ต้องพึงพาหลอดผลิตในประเทศจีน และหลอดผลิตจาก Richardson Electronics ในอิลีนอย (ภายหลังก็ต้องหยุดผลิตไปรับหลอดจากจีนมาขายแทน) โรงงานหลอด Sino ในจีนได้เริ่มต้นผลิตหลอด 211 โดยเลียนแบบโครงสร้างของหลอด GE 211/VT-4C และหลอด RCA 845 โดยมีเพลทเป็นกราไฟต์ และฐานหลอดเป็นอลูมิเนียม ส่วนริชาร์ดสันจะผลิตหลอด 845 ออกมาโดยใช้เครื่องมือดั้งเดิมของ RCA ใช้ชื่อยี่ห้อหลอดว่า Cetron ซึ่งผลิตหลอดเบอร์ 805 และ 810 ออกมาด้วยเช่นกัน

ทางฟากฝั่งรัสเซียก็มีการผลิตหลอดในระดับเดียวกันนี้ออกมานั่นก็คือหลอด GM-70 ของ Ulyanov ค่ามิวเท่ากับ 7 แต่ใช้ฐานหลอดต่างออกไป หลอด GM-70 ก็นิยมใช้งานในแอมป์ออดิไฟล์เช่นกัน หลอดเบอร์นี้คล้ายคลึงกับ 211 มาก ผลิตตั้งแต่ปี 1940 แต่ไม่เป็นที่รู้จักนอกรัสเซียมากนัก

จะเห็นว่าหลอดไตรโอดยักษ์กลุ่มนี้ได้อยู่ยงมากว่า  70 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากต่อมาก และยังคงมีผลิตอยู่ในปัจจุบันโดยโรงงานในจีน เป็นที่ต้องการของนักเล่นแอมป์หลอดอย่างมาก แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าช่วงปี 1970 ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลอด 211/VT-4C ถูกขายเลหลังกันเพียง $4 เท่านั้นเอง