ลองเล่นสุดยอด 6SN7 ยุโรป

ใครจะคิดละครับว่าหลอดทรง GT หน้าตาธรรมดาอย่าง 6SN7GT กลับเป็นที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในเครื่องหลอดคอมเมอร์เชียล และเครื่องหลอด DIY ที่เห็นกันส่วนมากก็จะเป็นหลอดอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Sylvania Chorme Top, Bad Boy, Metal Base หรือ Tangsol Round Plate หรือ RCA Smoke Glass, Red Base เป็นต้น แต่ถ้าลองเล่นหลอดมะกันมาหลายแล้วยังไม่โดนซะที ลองหันมาเล่นหลอดฟากฝั่งยุโรปกันบ้างมั้ยครับ

เบอร์หลอดยุโรปที่มักถูกนำมาใช้งานแทนหลอด 6SN7GT ก็เห็นจะเป็น ECC32/CV181 Mullard มีทั้งฐานดำ ฐานน้ำตาลให้เลือก จริงๆหลอดกลุ่มนี้คุณสมบัติก็ไม่ใกล้เคียงกับ 6SN7GT ซะทีเดียว เพียงแต่พอเสียบแทนแล้วสุ้มเสียงที่ได้มันนุ่มนวลกลางอิ่ม มีเนื้อหนังน่าฟังกว่า เลยเป็นที่ไขว่คว้าหามาเล่นกัน หลอด ECC32 Mullard จะมีฐานหลอดใหญ่กว่า 6SN7GT ปกติ บางท่านที่มีเครื่องหลอดคอมเมอร์เชียลอย่าง Cary จะเล่นหลอดเบอร์นี้ก็เสียบลงซ็อกเก็ตไม่ได้ครับ ต้องหาวิธีทำอะแด็ปเตอร์แปลงขา เพราะรูแท่นเล็กกว่าครับ เรามาลองดูหลอดยุโรปหลายๆเบอร์ที่น่าสนใจกันบ้างครับ

ECC33/CV2821 Mullard เป็นหลอดทรง GT เหมือนกับ 6SN7GT มีทั้งฐานดำ, น้ำตาล (ไมกานอล) บางทีก็เป็นหลอด OEM ในกล่องหลอดเยอรมัน แต่แกะออกมาพิมพ์ Mullard ชัดเจน บางทีก็เป็นยี่ห้ออื่นๆเช่น Valvo เป็นต้น แต่ก็ทำโดย Mullard อยู่ดี เพลทวางตำแหน่งเยื้องกันนิดหน่อย ทรงเพลทเป็นทรงรีๆแบนๆ ไมก้าของหลอดเบอร์นี้จะเหมือนกัน เก็ตเตอร์เป็น D Getter รูปร่างเก็ตเตอร์ต่างกันนิดหน่อย ไม่ว่าจะเป็นฐานสีอะไร หรือพะยี่ห้อไหน สุ้มเสียงโดดเด่นตรงเสียงกลางชัดเจน ปลายแหลมสดใสคึกคัก น่าแปลกที่ว่าฐานดำกลับให้เสียงน่าฟังกว่าฐานน้ำตาล ยิ่งเป็นฐานดำเตี้ยๆนี่เข้าทีเลยครับ ให้เนื้อเสียงเยอะกว่าหลอดอเมริกาอย่างเห็นได้ชัดเจน (เทียบกับ RCA 5692 ฐานแดงนะครับ) เป็นหลอดเสียบแทนกับ 6SN7GT ที่สมควรหามาเล่นครับ แต่ก็ติดตรงที่หายาก และราคาค่อนข้างเอาเรื่องเหมือนกันครับ

B65 Osram เป็นหลอดทรง GT เช่นกัน แต่ตัวหลอดจะสูงกว่า 6SN7GT ปกติพอสมควร ฐานเป็นโลหะ แก้วพ่นแกรไฟต์หรือ เรียกว่า Smoke Glass เก็ตเตอร์เป็นทรงถ้วย ไมก้ากลม เห็นเพลทรางๆว่าแบน บนตัวหลอดพิมพ์โลโกสวยงาม และอีกด้านหนึ่งพิมพ์เบอร์หลอด ถือเป็น Top Five ของหลอดตระกูล 6SN7GT จัดได้ว่าหายากมากๆ เนื่องเพราะมีผลิตจำนวนน้อย แถมยังเป็นที่หมายปองของนักเล่นทั่วโลกเลยก็ว่าได้ เลยทำให้ราคาแพงมาก มีให้เห็นหลายยี่ห้อเหมือนกันเช่น GEC (General Electric Company), Osram, MWT (Marconi Wireless Telegraph) เป็นต้น จุดเด่นของเบอร์นี้อยู่ตรงเสียงกลางที่ฉ่ำกังวาน เสียงดนตรีเครื่องสายอะคูสติดชัดเจน และเหมือนมาก ประกายของเครื่องเคาะได้ดีมาก เสียงย่านความถี่ต่ำมีเนื้อหนังลงได้ดี เยี่ยมครับ ฟังแล้วเพลินดีครับ สุ้มเสียงไม่ตื่นเต้นในตอนฟังครั้งแรก แต่ถ้าฟังไปนานๆนี่แทบไม่อยากไปไหนเลยครับ

BL63/CV1102  Marconi เป็นทรงหลอด ST มี Top Cap หลอดเบอร์นี้ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับเบอร์อื่นๆ เป็นเพราะมันเอาไปเสียบแทนโดยตรงไม่ได้ ต้องพึ่งอะแด็ปเตอร์แปลงขาก่อน สำหรับนักเล่นที่จัดงบประมาณไม่มากนัก (ถูกกว่าสองเบอร์แรกครึ่งๆเลยครับ) แต่อยากฟังเสียงหลอด 6SN7GT ยุโรป เบอร์นี้เป็นทางเลือกน่าสนใจครับ ตัวหลอดรมดำแทบจะไม่เห็นโครงสร้างภายใน แถมไมก้าบนล่างปิดซะมิดเลย เลยส่องโครงสร้างภายในแทบไม่เห็น  แต่ส่องๆดูจะเห็นเพลทรางๆ เป็นเพลทแบนขนาดใหญ่พอสมควร ตัวหลอดจะติดสติ๊กเกอร์ Marconi อีกด้านจะพิมพ์เบอร์หลอดลงเนื้อแก้ว  เด่นตรงเสียงบย่านความถี่ต่ำลงได้หนักแน่น เสียงกลางหนานุ่ม เลยฟังแล้วรู้สึกว่าปลายแหลมกรุ๊งกริ๊งไม่เท่า ECC33 แต่ก็ให้โทนัลบาลานซ์ดี เป็นหลอดเรียกว่าฟังครั้งแรกไม่ติดหูแน่นอน แต่ฟังไปนานๆแล้วเพลินดีครับ

เบอร์หลอดทั้งสามยกมาเป็นตัวเลือกที่น่าลองหามาเล่น สำหรับแฟน 6SN7GT ที่เบื่อเสียงจากหลอดมะกัน ลองหันมาฟังหลอดกลุ่มยุโรปบ้าง เผื่อจะหลงเสน่ห์หลอดยุโรปแบบผมเข้าให้ก็ได้ครับ