Marantz Model 1-10 Collector Guide

Marantz เป็นแบรนด์หนึ่งของเครื่องเสียงที่อยู่ยงมาจนถึงทุกวันนี้ ภายใต้ยี่ห้อเดียวกันนี้ผ่านการผลัดเปลี่ยนมาหลายต่อหลายครั้ง สำหรับนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจ Marantz ถือว่าเป็นแบรนด์ระดับท๊อป โดยยกให้เครื่องหลอด Model 1-10 ของค่ายนี้ที่ควรค่าแก่การแสวงหา

Marantz Model 1

ปรีแอมป์โมโนรุ่นแรกของ Sual B. Marantz จากจุดเริ่มต้นในการทำปรีแอมป์ใช้เอง​ ผ่านความนิยมแบบปากต่อปาก จนเมื่อปี 1952 Marantz ได้เริ่มต้นผลิต Audio Consolette ออกมา 100 ตัวแรกจำหน่ายในราคา $153 ในช่วงนั้น Sual B. Marantz ประกอบ Audio Consolette ทั้งหมดบนโต๊ะทำครัวในบ้าน Kew Gardens ซึ่งได้รับความนิยมต่อเนื่องมาอีกจนผลิตต่อเนื่องไปถึง 400 ตัว

กระทั่งในปี 1953 บริษัท Marantz จึงได้เริ่มต้นสายการผลิตในปี 1954 ปรีแอมป์ Audio Consolette ถูกเรียกขานในชื่อใหม่ว่า Model 1 ซึ่งเป็น Audio Consolette เวอร์ชันที่อยู่ในสายการผลิตโดยผลิตออกจำหน่ายในราคาตัวละ $150 (ราคาปัจจุบัน $8,000 ขึ่้นไปต่อตัวครับ) ปกติจะมีหน้าปัทม์อยู่สองแบบ​ ตัวแรกๆโดยตัวอักษรคำว่า “Audio Consolette” ปี 1952 ใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์ (ฟอนต์ Metropolis) ลูกบิดพลาสติคสีดำ ใช้หลอด 12AX7 2 หลอด และ 12AU7 1 หลอด ปี 1954 ใช้ตัวอักษรตัวเขียน (ฟอนต์ Davison Spencerian) ลูกบิดโลหะช่วงแรกจะเป็นทองเหลืองต่อมาจะเปลี่ยนมาเป็นอลูมีเนียม ปรับวงจรมาใช้ 12AX7 ทั้งหมด​ ต้องใช้ภาคจ่ายไฟนอก ภาคโฟโนเกิดในยุคที่เปลี่ยนถ่ายไปสู่มาตรฐาน​ RIAA​ ทำให้สามารถปรับ EQ Curve ได้มากกว่า 36​ แบบ​ รองรับแผ่นเสียงได้ทุกยุค

Marantz Model 2

เพาเวอร์แอมป์โมโนตัวแรกสุดของ Marantz หลังจากที่ Saul Marantz ดำเนินสายการผลิต Marantz Model 1 Consolette จนติดตลาด ก็เริ่มทำเพาเวอร์แอมป์ออกมา แต่ลำพังตัวคนเดียวคงจะทำไม่ไหวเลยชักชวน Sidney Smith มาช่วยในการพัฒนาเพาเวอร์แอมป์​ เป็นเพาเวอร์แอมป์ EL34​ Push-Pull​ มีสวิทช์ปรับเล่น​ Triode​ Mode (กำลังขับ​ 20W) กับ​ Ultra-linear​(กำลังขับ​ 40W) ขับด้วยหลอด 6CG7​ ใช้หลอด​ปรี​ 12AX7​ และภาคจ่ายไฟหลอด 6AU4 ใช้ตัวเก็บประจุชนิดน้ำมันในสเตจแรกสุด Sual​ B. Marantz มุ่งมั่นที่จะสร้างเพาเวอร์แอมป์ที่ดีที่สุดออกมาในขณะนั้น

Marantz Model 3

เป็นอิเล็คทรอนิกส์ครอสส์โอเวอร์ Electronic ใช้สำหรับตัดแบ่งความถี่สองทางสำหรับการเล่นไบแอมป์ สามารถเลือกจุดตัด และกำหนดความดังได้​ ปกติจะเจอแต่โมโนหน้าปัทม์แยกสีทอง แต่มีโอกาสเจอตัวที่เป็นสเตอริโอสั่งทำพิเศษโดย JBL​ หน้าปัทม์อลูมีเนียมรวมสองตัวเข้าด้วยกัน ใช้หลอด 12AX7 2 หลอด ต้องใช้ภาคจ่ายไฟนอก

Marantz Model 4

อาจจะสงสัยว่าแล้ว Model 4 ล่ะไปไหน? Marantz Model 4 เป็นภาคจ่ายไฟที่ใช้งานคู่กับ Marantz Model 1 และ Model 3 แบบหนึ่งต่อหนึ่งหมายความว่าถ้าใช้ Model 1 สเตอริโอ ก็ต้องมี Model 4 2 ตัว

Marantz Model 5

ในปี​ 1958 ความนิยมเล่นระบบไบแอมป์มีมากขึ้น​ แต่ขนาดตัวเครื่อง​ Model 2 ค่อน​ข้างกว้างกินพื้นที่เยอะ Marantz Model 5 เพาเวอร์แอมป์ที่ลดความซับซ้อนของ Model 2 ลงมาให้เหลือหลอดเร็คติฟายเพียง 1 หลอด ตัดสวิทช์เลือก Triode Mode กับ Ultra Linear ทิ้ง ให้เป็นการบัดกรีย้ายตัวต้านทานในเครื่องแทน ตัวเครื่องเล็กลงมามาก​ สามารถวางเรียงกัน สี่ตัวในพื้นที่เดิมที่วาง Model 2 สองตัวได้เลย ภาคขยายเป็น EL34 Push-Pull ขับด้วยหลอด 6CG7 หลอดปรี 6BH6 ภาคจ่ายไฟ GZ34

Marantz Model 6

ก้าวสู้ยุคสเตอริโอในปี 1958​ Marantz Model 6 Stereo Adapter ใช้สำหรับรวมให้ Marantz Model 1 สามารถปรับโวลุมเพียงตัวเดียวจาก Model 6 สมัยก่อนจะขายแยกต่างหากมีหน้าปัทม์สองแบบคือตัวอักษรสำหรับติดตั้งแนวตั้ง กับตัวอักษรติดตั้งแนวนอน

Marantz Model 7

Marantz Model 7 ปรีแอมป์สเตอริโอที่มีภาคจ่ายไฟในตัวเป็นแบบซีลีเนียม และค่อยเปลี่ยนเป็นซิลิกอนไดโอดในตัวหลังๆ ใช้หลอด 12AX7 6 หลอดแบ่งเป็นภาคโฟโน 3 หลอด ปรับ EQ Curve ได้สามแบบ 78RPM สำหรับแผ่นครั่ง, RIAA สำหรับแผ่นมาตรฐานหลัก และ COL สำหรับแผ่นเก่า และภาคปรีไลน์ 3 หลอด จำนวนผลิตค่อนข้างเยอะทำให้มีช่วงราคาต่างกันมากๆ โดยดูจากเลขซีรีย์ถ้าเลขต่ำมากๆราคาไปถึงล้านบาทเลยทีเดียว นั่นหมายความว่า Maranz Model 7 จึงมีทั้งตัวที่ฟังแล้วเสียงดีมากๆแบบน่าประทับใจน้่ำตาไหล ไปจนถึงขั้นฟังแล้วไม่เข้าหูกันเลยทีเดียว Marantz Model 7 ยังมีเวอร์ชันที่เป็นชุดคิตด้วย ซึ่งจำหน่ายหลังจากที่ญี่ปุ่นทำการเทคโอเวอร์ Marantz ไปแล้ว โดยจะมีระบุว่าเป็นรุ่น 7k หน้าปัทม์เครื่องจะมีสองแบบคือ หน้าปกติกับหน้าแร็คถ้าดูรูจะพบกว่าหน้าแร็คใหญ่กว่ามาก และหายากกว่ามาก

Marantz Model 8

เพาเวอร์แอมป์หลอดสเตอริโอเพียงหนึ่งเดียว Marantz Model 8 ใช้หลอด EL34 Push-pull ขับด้วยหลอด 6CG7 และหลอดปรี 6BH6 พัฒนาต่อมาจาก Marantz Model 5 เปลี่ยนภาคจ่ายไฟเป็นซีลีเนียม ในเวอร์ชันแรกๆของ Marantz Model 8 จะมีจุดสังเกตุคือ มีซ๊อกเก็ต Octal ด้านหลังเครื่อง และมีตัวเลขรุ่น Model 8 ซึ่งรุ่นต่อมาจะเขียนเป็น Model 8b และไม่มีซ๊อกเก็ต Octal ด้านหลัง แต่ก็มี Model 8b ที่เป็นช่วงรอยต่อจะมีซ็อกเก็ต Octal ด้วยเช่นกัน หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นเทคโอเวอร์ไปก็จะมีรุ่นที่เป็นชุดคิตระบุรุ่นว่า Model 8k ให้สังเกตุตัวเก็บประจุด้านหน้าเครื่องจะเป็นกระบอกสีเงินตัวหนึ่งกับสีฟ้าอีกตัวนึง

Marantz Model 9

เพาเวอร์แอมป์หลอดโมโนรุ่นใหญ่ที่สุดในซีรีย์ 1-10 นั่นก็คือ Marantz Model 9 จะมีหน้าปัทม์สองแบบคือขนาดปกติกับขนาดติดแร็ค สีหน้าปัทม์จะมีสีเงินปกติ กับสีทองแชมเปญจ์ ภาคเพาเวอร์เป็น EL34 Parallel Push-Pull สามารถเลือกโหมดการทำงาน Triode (กำลังขับ 40 วัตต์) กับ Ultra-Linear (กำลังขับ 70 วัตต์) แต่บางทีจะเจอรุ่น 970B เป็นรุ่นที่ใช้กับระบบเสียงตามสายระบบ 70V จะไม่มีสวิตช์เลือกโหมด Triode/Ultra-Linear ได้ใช้หลอดปรี ECC88 และหลอดไดร์ว 6CG7 ภาคจ่ายไฟเป็นซิลิกอนไดโอด ภาคไบอัสเป็นซีลีเนียม หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นเทคโอเวอร์ไปก็จะมีรุ่นที่เป็นชุดคิตระบุรุ่นว่า Model 9k มีทั้งหน้าแร็ค และหน้าธรรมดา

Marantz Model 10

จูนเนอร์ FM Stereo ตัวแรก โดยมี Marantz Model 10 ออกมาก่อนในปี 1962 เป็นจูนเนอร์หลอดที่มีจอสโคปสำหรับแสดงผลการปรับคลื่น และการแยกเสียง ตามมาด้วย Marantz Model 10B ในปี 1963 นักเล่นเก็บตัว Marantz Model 10 เพื่อให้ครบในซีรีย์ 1-10 ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมือในช่วงเวลาต่อมา