DST 62 Holy Grail of a Cartridge

จั่วหัวเป็นภาษาอังกฤษว่า “DST 62 จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งหัวเข็ม” อาจจะดูเกินจริงไปสักนิด แต่ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ทางเสียงจากหัวเข็ม Neumann DST-62 สักครั้ง คงต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าสมคำล่ำลือจริงๆ ทั้งในแง่มูลค่า และความหายากมาก เนื่องจากหัวเข็มรุ่นนี้มีผลิตมาจำกัดเพียง 900 หัวทั่วโลกเท่านั้น! ถึงกับมีคนกล่าวไว้ว่า “เป็นหัวเข็มหนึ่งเดียวที่นักเลงวินเทจออดิโอไฟล์ควรหาโอกาสฟังได้สักหนึ่งครั้งในชีวิต”
      Neumann DST 62 เป็นหัวเข็ม MC โครงสร้างการทำงานแบบ Dynamic Moving Coil ก้านเข็มสั้น (สั้นจนเห็นครั้งแรกคิดว่าปลายเข็มหัก) ติดคอยล์ไว้ที่ก้านเข็ม วางตำแหน่งคอยล์ตัดกับสนามแม่เหล็กแรงสูง ผลิตออกมาควบคู่กับไมโครโฟนรุ่นดังของ Neumann ในปี 1962

เฮดเชลล์ของ DST-62 เป็นสีดำสนิทมีตรา Neumann และชื่อรุ่น DST-62 บนตัวเฮดเชลล์ หน้าสัมผัสของหัวเข็มเป็นแบบ Diamond หรือข้าวหลามตัดสำหรับใช้งานกับโทนอาร์มแบบ EMT ด้านปลายเข็มจะมีแผ่นยางหุ้มปิดทั้งหมดโผล่มาเพียงก้านเข็มสั้นๆ และปลายเพชร เนื่องจากผ่านช่วงเวลามานานบางทีแผ่นยางหุ้มจะเปื่อยยุ่ยไปจนหมดก็มี ก้านเข็มสั้นมากซึ่งส่วนทางกับแนวทางการออกแบบของหัวเข็มสมัยใหม่ที่มีก้านเข็มยาว พาลนึกไปถึงคำกล่าวในนิยายจีนว่า “สั้นหนึ่งนิ้วอันตรายหนึ่งส่วน ยาวหนึ่งหุนแข้มแข็งหนึ่งส่วน ” แต่ถ้ามองในมุมการเข้าถึงเนื้อถึงตัวแล้ว สั้นกว่ามีมุมพลิกมุมปาดได้มากกว่ายาวนะครับ… อันนี้คิดเอง ^_^

สเปคของหัวเข็มจะระบุว่าเป็นชนิด Dynamic แรงดันเอาต์พุต 0.1mV/cm แนะนำให้ใช้กับโหลดที่ 50 โอห์ม แรงกด 6 กรัม (ทดลองฟังตั้งแต่ 3.5-6 กรัม ผมชอบที่ 4 กรัมครับ) ส่วนรายละเอียดอื่นๆลองดูในสเปคที่ลงโฆษณาในอดีตครับ

ติดตั้ง Neuman DST 62 ลงอาร์ม EMT 997 บนเทิร์น EMT 927st มีปรีโฟโนในตัว EMT 139st Original ปรับนั้นหนัก และทดลองฟัง เนื่องจากสัญญาณจากหัวเข็ม DST 62 เบากว่าหัวเข็ม EMT พอสมควร เสียงจะออกเบากว่า เลยต้องเร่งโวลุมจากปรีแอมป์มากกว่า แต่เสียงแรกที่ฟังจากหัวเข็มนี้เรียกได้ว่าเพราะมาก ไพเราะแบบเข้าไปถึงขั้วหัวใจ โดยเฉพาะเสียงร้องทั้งหญิงชาย การถ่ายทอดเสียงเครื่องดนตรีที่เหมือนจริง การผนึกตริงให้ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้น ตำแหน่งคนร้อง ประหนึ่งว่าขึ้นรูปแล้วลอยค้างในอากาศเลยทีเดียวครับ ถ้างบประมาณไม่ใช่ปัญหา และวา่สนาต้องกัน นับว่าเป็นหัวเข็มที่คู่ควรมีครับ ^_^