Original Western Electric 22A Speaker System

ระบบลำโพงฮอร์น Western Electric 22A น่าจะเป็นลำโพงที่ถูกสร้างมากที่สุด ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่โตเกินไปนัก เมื่อเซ็ตอัพเป็นระบบสเตอริโอสามารถจัดระยะติดตั้ง และตำแหน่งนั่งฟังได้เหมาะสมกับขนาดห้องในบ้านเรามากกว่าฮอร์น Western Electric ตัวอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก แน่นอนว่าการสร้างก็อาศัยแปลนกับขนาด และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตประกอบการสร้าง นักเล่นเครื่องเสียงวินเทจในบ้านเราสร้างเลียนแบบขึ้นมามากมาย แล้วของจริงนั้นเป็นอย่างไร?

จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสเซ็ตอัพระบบลำโพง Western Electric 22A แบบใช้อุปกรณ์ที่เป็นดั้งเดิมทั้งหมด ทั้งตัวฮอร์น ชุดไดร์เวอร์ ครอสส์โอเวอร์ ภาคจ่ายไฟฟีลด์คอยล์ ไปจนถึงปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ก็เป็น Western Electric Original ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ฮอร์น 22A เมื่อเทียบของดั้งเดิมกับของที่สร้างขึ้นมาใหม่ที่อาศัยแปลนจากอินเตอร์เน็ต จะเห็นว่าขนาดและความอ่อนช้อยต่างกันพอสมควร ซึ่งผมก็ได้ให้ข้อมูลขนาดที่ถูกต้องจากของจริงให้กับผู้สร้างฮอร์นในบ้านเราเก็บไว้ปรับแก้ไข

 

ชุดฮอร์นจริงๆที่เราเรียกติดปากว่า Western Electric 22A จริงๆมันคือระบบฮอร์น 2022-A จะประกอบไปด้วยส่วนปากฮอร์น 22A และส่วนคอ 12A ผลิตขึ้นจากแผ่นเหล็ก ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับคอมเพรสชันไดร์วเวอร์ Western Electric 555 พัฒนาขึ้นมาในปี 1936 ประกอบกับตู้เบสส์ TA-7331 ติดตั้งวูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว TA-4171 หรือ TA-4172 ใช้ครอสส์โอเวอร์ TA7332 ใช้ในโรงภาพยนตร์ 35 มม. ในช่วงปี 1936 ขับด้วยเพาเวอร์แอมป์ Western Electric 91A ตัวระบบลำโพงนี่ใช้ชื่อเรียกว่า System #6 Type หรือ Western Electric Series No. 6

ถ้าเป็นเซ็ตอัพดั้งเดิมเลยจะกินพื้นที่ติดตั้งด้านสูงค่อนข้างมาก เพราะลำโพงจะติดตั้งด้านหลังจอภาพยนตร์ ตัวฮอร์นถูกยกสูง ตรวกลางระหว่างฮอร์น 22A กับตู้เบสส์ TA-7331 จะมีผ้าม่าน (Acoustic Drape) แขวนห้อยตัวลงมา ด้านหลังของตู้เบสส์ TA-7331 จะมีผ้าขึงเป็นบานเกล็ดเป็น Acoustic Drape เหมือนกัน แต่จะเป็น Shutter Type ซึ่งตรงจุดนิดนักเล่นบ้านเรามักจะมองข้ามว่ามันเป็นแค่ผ้าขึงเป็นบานเกล็ดไม่ต้องมีก็ได้ ทำให้เสียงเบสส์ที่เกิดขึ่้นจากตู้ TA-7331 จะเกิดอากาสบูมได้ง่ายมาก

ด้วยขนาดติดตั้งเดิมของระบบลำโพงค่อนข้างสูงมาก เพื่อให้เหมาะสมก็จะลดความสูงลง อาจจะทำเป็นเฟรมแขวนลำโพงคร่อมตู้เบสส์ หรือทำเป็นโต๊ะวางคร่อมตู้เบสส์ แต่ต้องไม่วางบนหลังตู้เบสส์โดยตรง เพราะจะทำให้แรงสั่นสะเทือนจากตู้เบสส์ไปรบกวนการทำงานของเสียงกลางต่ำ และกลางสูง

ระบบลำโพง Western Electric 22A ที่ผมเซ็ตอัพจากอุปกรณ์ดั้งเดิมแท้ทั้งชุดจะมีข้อแตกต่างจาก Western Electric Series No. 6 บ้างในบางจุดเนื่องจากต้องการให้ได้เสียงที่สมบูรณ์ในแบบที่ฟังเพลงปัจจุบันได้สบายๆ ตัวตู้ TA-7331 ของแท้ๆไม่สามารถหาแบบสองตัว เพื่อที่จะนำมาเซ็ตอัพในระบบสเตอริโอ เลยต้องสร้างขึ้นมาใหม่จากแบบแปลนของ Western Electric

ตัวตู้เบสส์ทำจากไม้อัด Baltic Brich Plywood แบบที่เป็นไม้เบิร์ชทุกชั้นไม่สอดไส้ไม้อื่น น้ำหนักตู้จะมากกว่าไม้สนที่บ้านเรานิยมทำตู้ลำโพง แต่ควบคุมเบสส์ได้ดีกว่ามาก ด้านหลังจะทำกรอบสำหรับติดตั้ง Drape Acoustic Shutter ตามแบบดั้งเดิม ผมเลือกใช้วูฟเฟอร์ Western Electric TA-4181 ที่มีขนาด 18″ แทน เพื่อให้ได้เสียงเบสส์ที่ลงได้ลึกกว่า และมีคุณภาพเสียงเบสส์ที่ดีกว่า

เพิ่มประสิทธิภาพของเสียงย่านความถี่สูงด้วยทวีตเตอร์ Western Electric 597A ใช้ครอสส์โอเวอร์ Western Electric TA-7257 เป็นระบบสามทางที่สมบูรณ์แบบโดยตัดความถี่ 300Hz และ 4KHz ตามลำดับ เนื่องจากระบบลำโพง Western Electronic ในยุคนั้นเป็นแบบไม่มีแม่เหล็ก เนื่องจากแม่เหล็กอัลนิโกยังไม่ถูกค้นพบ ลำโพงในยุคนั้นจึงเป็นระบบแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด ไดร์เวอร์ทุกตัวจะต้องต่อกับไฟตรงเข้ากับขดลวดเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กความเข้มสูงที่ช่วงวอยซ์คอลย์ แรงดันไฟฟ้าจะมีสองค่า 7 Vdc สำหรับ Western Electric 555 กับ Western Electric 597 และ 24 Vdc

เพื่อให้ได้เสียงในแบบ Western Electric แท้ๆ ตัวภาคจ่ายไฟสำหรับฟีลด์คอยล์ที่ป้อนให้กับไดร์เวอร์ทุกตัวจะใช้ Western Electric TA-7276A เป็นภาคจ่ายไฟหลอด Tungar มีตัวเก็บประจุสำหรับฟิลเตอร์แรงดันไฟตรงให้เรียบเรียงทั้งหมด 8 ตัว สามารถต่อจ่ายแรงดัน 24 Vdc แบบมีฟิลเตอร์ 1 ชุด สำหรับวูฟเฟอร์ WE TA-7181A 2 ตัว และ 7 Vdc แบบมีฟิลเตอร์ 2 ชุดสำหรับต่อไดร์เวอร์ WE555 และ WE597A สำหรับเสียงกลางแหลมสองข้างได้พอดี เนื่องจากเป็นระบบลำโพงที่ถูกพัฒนาในยุค 1936 ความเรียบของภาคจ่ายไฟยังไม่มากนัก เวลาใช้งานจริงเปิดแค่ภาคจ่ายไฟ TA-7276A ก็มีเสียงฮัมออกลำโพงแม้จะยังไม่เปิดแอมป์ครับ แต่เสียงเพลงจริงๆที่เกิดขึ้นจากลำโพงชุดนี้ ทำให้เราลืมเสียงฮัมในทันที !!!

แน่นอนว่าชุดปรีแอมป์ และเพาเวอร์แอมป์ก็ต้องเป็น Western Electric Original เท่านั้นจึงจะได้เสียงในแบบแท้ๆดั้งเดิมเต็มพลังเสียงจริงๆระบบลำโพงชุดนี้จึงใช้เพาเวอร์แอมป์ Western Electric 1086C ซึ่งเป็น 300B Push-Pull กำลังขับ 25 วัตต์ ร่วมกับปรีแอมป์ Western Electric 129A เมื่อทั้งชุดทำงานร่วมกัน เราจะได้ฟังเสียงที่เหมือนของจริงๆมาเล่นอยู่ตรงหน้าเรา ทั้งในเรื่องของสเกล ไดนามิค ทรานเชียน ที่สมจริงมากที่สุดเท่าที่เคยฟังจากชุดเครื่องเสียงวินเทจมาเลยทีเดียวกับ สมกับความเป็นตำนานอย่างแท้จริง!!!