วัฒนาการของวินเทจมอนิเตอร์ 6

มาลองดูการเปลี่ยนแปลงของสตูดิโอมอนิเตอร์เป็นไทม์ไลน์กันบ้าง ลำโพงที่ถูกนำมาใช้เป็นมอนิเตอร์ในแต่ละยุคมีความแตกต่างกัน เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆกับแนวทางการฟังเพลงในแต่ละยุค ในช่วงแรกๆราวๆปี 1920-1930 ของอุตสาหกรรมการบันทึกเสียงยังไม่เน้นเรื่องลำโพงมอนิเตอร์จริงๆจังๆมากนัก เนื่องจากใช้ลำโพงเพียงตรวจสอบระดับสัญญาณรบกวน และเช็คระบบทางเทคนิคเท่านั้นเอง ทำให้สตูดิโอในยุคนี้เป็นตู้ลำโพงพื้นๆง่ายๆ ลำโพงฮอร์นคุณภาพสุดยอดในยุคนั้นก็นำไปใช้งานในโรงภาพยนตร์

ยุค 1940-1950 สตูดิโอมอนิเตอร์คุณภาพสูงตัวแรกได้ถูกพัฒนาขึ้นมานั่นก็คือ Altec Lansing Duplex 604 เป็นผลงานการพัฒนาโดย James Bullough Lansing  ในปี 1944 ซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จนการเป็นมาตรฐานหลักของสตูดิโอมอนิเตอร์ในยุคนั้น และเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอมอนิเตอร์ในยุคนี้ Altec 604 เป็นไดร์วเวอร์แบบแกนร่วม (coaxial) ที่รวมเอาวูฟเฟอร์ และคอมเพรสชันไดร์วเวอร์รวมอยู่ในชุดเดียวกัน และได้ครองความเป็นมาตรฐานของสตูดิโอมอนิเตอร์ต่อเนื่องยาวนานถึง 25 ปี มีการพัฒนารุ่นปลีกย่อยต่างๆถึง 11 รุ่น เป็นมอนิเตอร์สามัญที่ใช้กันแพร่หลายมากในอเมริกายาวนานจากยุค 1950 จนถึง 1960 ดำเนินการผลิตต่อเนื่องยาวนานมาถึงปี 1998

ฝากฝั่งอังกฤษก็มีไดร์วเวอร์ในรูปแบบเดียวกันที่พัฒนาโดย Tannoy โดยใช้ชื่อการออกแบบว่า “Dual Concentric” ซึ่งกลายมาเป็นสตูดิโอมอนิเตอร์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในฝากฝั่งยุโรป ในยุคนั้นนักวิจัยของสถานีวิทยุ BBC – British Broadcasting Corporation ได้ทำการทดสอบลำโพงหลายต่อหลายรุ่นที่มีผลิตจำหน่ายในปี 1948 แต่กลับพบว่าไม่มีลำโพงใดๆเลยที่จะตอบสนองกับความต้องการในการใช้งานจริงของทางบีบีซีเลย ลำโพงที่ทางบีบีซีต้องการลำโพงที่ใช้วัสดูในการสร้างระดับโปรเฟสชันเนล และติดตั้งนอกสถานที่ได้ง่าย นอกจากจะมีคุณสมบัติทางเทคนิคที่ดีเช่น การตอบสนองความถี่ดี, ความเพี้ยนต่ำ,  และประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง ที่สำคัญคือต้องเป็นมอนิเตอร์ที่ให้เสียงเป็นธรรมชาติ มีความสมดุลของเสียงตลอดย่านความถี่ และไม่มีการเจือสีสันใดๆเลย

สตูดิโอมอนิเตอร์ในยุคนั้นถูกออกแบบมาเพื่อการบันทึกเสียงในแบบโมโน Altec 604 เองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของการตอบสนองความถี่ได้ไม่ครอบคลุม และสตูดิโอทั่วทั้งอเมริกายังคงใช้กันอย่างต่อเรื่อง เนื่องจากโปรดิวเซอร์ และวิศวกรบันทึกเสียงต่างคุ้นเคยกับ Altec 604 เป็นอย่างดี  จึงไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะนำเอาสตูดิโอมอนิเตอร์ตัวใหม่ๆเข้ามาแทนที่ ทำให้ Altec 604 ครอบครองห้องอัดฝั่งอเมริกา ในขณะที่ Tannoy Dual Concentric ครอบครองห้องอัดฝั่งยุโรป

พอมาในปี 1959 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับสตูดิโอมอนิเตอร์ เมื่อ Altec สะดุดขาตัวเองล้มโดยนำเอาไดร์วเวอร์ Altec 605A Duplex เข้ามาแทนที่ Altec 604 ซึ่งได้การตอบรับที่แย่มากจากอุตสหกรรมการบันทึกเสียง ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ให้คู่แข่ง JBL (บริษัทที่ตั้งขึ้นมาจากผู้ที่ออกแบบ Altec 604) รุกเข้าสู่ตลาดสตูดิโอมอนิเตอร์ได้เป็นครั้งแรก โดยทาง Capital Record เลือกที่จะใช้มอนิเตอร์ JBL D50 ต่อมาอีกสองสามปี EMI จากฝากฝั่งอังกฤษก็ขยับมาใช้มอนิเตอร์ของ JBLด้วยเช่นกัน Altec พยายามแก้ลำโดยส่งไดร์วเวอร์ Altec 604E เข้ามาช่วงชิงตลาดกลับ แต่ก็สายเกินไปเสียแล้ว

ในฝากฝั่งอังกฤษก็ยังมีพี่ใหญ่ที่กำหนดทิศทางของระบบสตูดิโอมอนิเตอร์นั่นก็คือบีบีซี ได้มีการวิจัยพัฒนาลำโพงมอนิเตอร์ที่จะตอบสนองกับความต้องการของทางบีบีซีเอง ซึ่งเขียนออกมาเป็นบทความวิจัยในปี 1958 ผลการวิจัยพัฒนาที่มุ่งเน้นในการออกแบบให้ลำโพงสามารถสร้างเสียงขึ้นมาใหม่ได้อย่างสมจริงในยุคโมโน ทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการถึงตำแหน่งของแหล่งกำเนิดเสียงตรงตามความเป็นจริง ในกระบวนการออกแบบลำโพงของทางบีบีซีได้คำนึงถึงขนาด น้ำหนัก และต้นทุนการผลิต โดยเลือกออกแบบให้เป็นลำโพงแบบสองทาง ใช้ครอสส์โอเวอร์ที่เรียบง่าย และเลือกใช้ไดร์วเวอร์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ซึ่งเทคโนโลยีลำโพงในยุคนั้นมีเพียงไม่กี่ตัวที่ไดร์วเวอร์เสียงแหลมจะตอบสนองความถี่ลงมาได้ถึง 1.5 kHz หรือไดร์วเวอร์เสียงต่ำจะทำงานขึ้นได้ถึง 2 kHz ในปี 1959 บีบีซีก็พัฒนาสตูดิโอมอนิเตอร์ตัวแรกออกมานั่นก็คือ LS5/1 ใช้ทวีตเตอร์ขนาด 58 มม. ของ Celesion และวูฟเฟอร์ Goodman ขนาด 380 มม. แต่มีปัญหาติดตามมาอยู่ตลอดเรื่องความไม่เสถียรของวูฟเฟอร์ที่ใช้ จนกระทั่งเปลี่ยนมาใช้วูฟเฟอร์ขนาด 305 มม. กรวยทำจากเทอร์โมพลาสติค พัฒนาต่อยอดมาเป็นมอนิเตอร์รุ่น LS5/5 และ LS5/6 ที่มีปริมาตรตู้ลดลงเหลือ 60% ของ LS5/1

ยุค 1960 – 1970 ทางบีบีซีก็ได้ตีพิมพ์บทความในเดือนมกราคม ปี 1963 ผู้เขียนบทความได้อธิบายถึงผลการไศึกษาระบบเสียงสเตอริโอแบบสองแชนเนล ว่ามีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับระบบเสียงสเตอริโอแบบมัลติแชนเนลของโรงภาพยนตร์ ในบทความนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาระบบเสียงที่เหมาะสมทั้งในการใช้งานจริง และต้นทุนการผลิต ลำโพงที่บทความกล่าวถึงแทนที่จะเป็นมอนิเตอร์สองทางตัวใหญ่ๆอย่างที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสตูดิโอ ทางบีบีซีกลับพัฒนาลำโพงขนาดเล็กเพี่อใช้สำหรับการมอนิเตอร์เสียงแบบ Near-Field ใช้งานย่านความถี่ 400Hz ถึง 20 kHz เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานนอกห้องส่งได้ ใช้งานได้ในสถานที่จำกัดอย่างเช่นรถแวนสำหรับออกอากาศเคลื่อนที่ โดยอาศัยการลดสเกลจากงานออแบบในปี 1968 และรายละเอียดการออกแบบของ LS5/8 ซึ่งเป็นมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ที่ใช้งานในขณะนั้น จนในที่สุดฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบีบีซีก็ได้พัฒนาลำโพงมอนิเตอร์ LS3/5 ขึ้นมา ต่อมาก็กลายเป็นตำนานมอนิเตอร์อันลือชื่อ LS3/5A ใช้งานอย่างแพร่หลายจากปี 1975 ถึง 1990

ในปลายยุค 1960 ทาง JBL ก็ได้พัฒนาลำโพงมอนิเตอร์สองรุ่น เพื่อเจาะเข้าอุตสาหกรรมบันทึกเสียง JBL 4320 ถูกออกแบบมาเพื่อแข่งกับ Altec 604 โดยตรง แต่ก็ยังไม่สามารถทาบรัศมีของ Altec 604 ได้ทั้งในแง่ความแม่นยำ และพลังเสียง แต่ที่น่าสนใจกลับเป็นมอนิเตอร์ตัวเล็กกว่านั่นคือ JBL 4310 ด้วยขนาดที่เล็กกะทัดรัดทำให้ JBL 4310 เหมาะสำหรับการใช้งานเป็นมอนิเตอร์แบบ Near Field มาก ขนาดของเจ้า 4310 ก็เล็กพอที่จะตั้งบนคอนโซลบันทึกเสียง และใช้เป็นมอนิเตอร์จากระยะห่างที่ไม่มากได้เป็นอย่างดี ผลทำให้ปัญหาอะคูสติคในห้องสตูดิโอส่งผลน้อยมาก ทำให้สตูดิโอขนาดเล็กพบว่า JBL 4310 เป็นมอนิเตอร์ทางอุดมคติ และพัฒนาต่อยอดเป็นรุ่น 4311 เป็นสตูดิโอมอนิเตอร์ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในยุค 1970 จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอมอนิเตอร์ในยุคนี้ ความนิยมของ JBL 4311 ในตลาดโปรเฟสชันเนลส่งผลกับลำโพงบ้านในยุคนั้นนั่นก็คือ JBL L-100 เป็นลำโพงบ้านที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย เป็นลำโพงไฮไฟที่มียอดขายสูงที่สุดต่อเนื่องมาถึงสองสามปี ในปี 1975 JBL ก็นำหน้า Altec ในตลาดลำโพงมอนิเตอร์ที่ถูกเลือกใช้งานมากที่สุด

สตูดิโอขนาดใหญ่ยังต้องการมอนิเตอร์ที่ให้ระดับความดังของเสียงมากๆ และต้องให้เสียงเบสส์ให้สมจริง ศิลปินร็อควง The Who เลือกใช้ JBL 4350 ถึง 12 ตัว !!! แต่ในยุคที่อุตสาหกรรมดนตรีขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเกิดขึ้นของสตูดิโอเล็กๆงบประมาณจำกัดก็เกิดขึ้นอย่างมากมายทำให้มอนิเตอร์ราคาถูกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วนั่นคือ Auratone 5c ใช้ไดร์วเวอร์เพียงตัวเดียวฉายา “grot-box”  สำหรับการมอนิเตอร์เสียงในแบบที่สามารถนำไปเล่นกลับในแบบ lo-fi กับลำโพงติดรถยนต์ และระบบเสียงราคาถูกในบ้าน

พอมาถึงเพลงในยุคพังค์,นิวเอจ,อินดี้ หรือเพลงที่ไม่เน้นคุณภาพในการอัดเสียงมากนัก อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงก็ถูกเปลี่ยนรูปแบบอีกครั้ง โดยเกิดสตูดิโอขนาดเล็กทำกันในแบบดีไอวายเกิดขึ้นมากมาย สตูดิโอมอนิเตอร์ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปหาลำโพงขนาดเล็ก และราคาถูก ทำให้มีการออกแบบลำโพงมอนิเตอร์ที่ตอบสนองกับความต้องการนี่ Yamaha NS-10 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1978 ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของสตูดิโอมอนิเตอร์ในยุคนี้ และกลายมาเป็นมอนิเตอร์ที่ถูกเลือกใช้มากที่สุดในสตูดิโอยุค 1980 และยังคงเป็นมอนิเตอร์ยอดนิยมใช้งานต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นมอนิเตอร์ที่อยู่ยงคงกระพันมากที่สุด

ยุค 1980-1990 ในช่วงกลางยุค 1980 มอนิเตอร์แบบ Near Field เป็นตัวหลักในการใช้งาน ในสตูดิโอขนาดใหญ่ก็ยังมีการใช้งานมอนิเตอร์หลักตัวใหญ่ๆอยู่ ในขณะที่โปรดิวเซอร์ และวิศวกรกลับนิยมใช้งานมอนิเตอร์แบบ Near Field ลำโพงมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ในยุคนั้นก็คือ Eastlake/Westlake เป็นมอนิเตอร์ที่ใช้วูฟเฟอร์ 15” สองตัว เสียงกลางเป็นฮอร์นไม้ และเสียงแหลมเป็นฮอร์น ในยุคนี้มอนิเตอร์ UREI 813 ได้นับความนิยมมาก เนื่องจากมีพื้นฐานการออกแบบมาจาก Altec 604 แต่พัฒนาครอสส์โอเวอร์เน็ตเวิร์คที่มีการจัดการเรื่องการเหลื่อมของเวลาจากไดร์วเวอร์กลางแหลม และวูฟเฟอร์ ยังมีมอนิเตอร์ Fostex Laboratory Series นิยมใช้กันในห้องอัดไฮเอ็นด์หลายแห่ง แต่ต้นทุนการผลิตสูงมากทำให้ลำโพงซีรีย์นี้ของ Fostex มีจำนวนไม่มากนัก และหายาก

แนวโน้มของไดร์วเวอร์แบบซอฟต์โดมทำให้ เสียงกลางแหลมของสตูดิโอมอนิเตอร์ เริ่มปรับเปลี่ยนตามคือไม่นิยมใช้ไดร์วเวอร์แบบฮอร์น แม้ข้อดีของไดร์วเวอร์ฮอร์นจะมีประสิทธิภาพสูง และการตอบสนองแบบเฉียบพลันทำได้ดีกว่า แต่ใช้งานไปนานๆผู้ใช้งานจะรู้สึกล้าหูกว่าไดร์วเวอร์กลาง/แหลมที่เป็นโดม ลำโพงมอนิเตอร์ที่ใช้ไดร์วเวอร์กลางแหลมแบบโดมได้แก่ Roger Quested, ATC, Neil Grant และ PMC ใช้งานผ่านแอคทีพว์ครอสส์โอเวอร์ และเพาเวอร์แอมป์แบบติดแร็ค

ยุค 2000 มอนิเตอร์อย่าง Yamaha NS-10 ก็ยังเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และปรับไปสู่เพาเวอร์มอนิเตอร์ หรือมอนิเตอร์ที่มีแอมป์ขยายในตัว เพื่อลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ลง ในยุคนี้การบันทึกเสียงเน้นการนำไปเล่นกลับกับเครื่องหลายๆประเภทโดยที่ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะฟังในรถยนต์ หรือในเครื่องเสียงบ้านระดับออดิโอไฟล์

ถ้าดูไทม์ไลน์วัฒนาการของมอนิเตอร์ในห้องอัด ก็จะยิ่งเข้าใจว่าทำไมนักฟังเพลงถึงได้ย้อนกลับไปฟังเพลงในยุคเก่าๆกันมาก โดยเฉพาะเพลงแจ็สปีลึกๆจะพบว่าอัดเป็นโมโนแต่กลับให้เสียงเข้มข้นสะใจกว่า แจ๊สที่อัดในยุคหลังๆมากนัก