Lenco Heavy Platter…Why?

ช่วงนี้กำลังเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำเทิร์นเทเบิลที่เอาชิ้นส่วนของเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ “Lenco” มาทำลงแท่นใหม่ โดยใช้ชุดแต่ง PTP 5 Kit เจ้าของแนวคิดคือ Peter Reinders เป็นนักเล่นที่ขลุกอยู่กับแผ่นไวนีลตั้งแต่จำความได้ เริ่มเล่นเทิร์นฯตัวแรกก็คือ “Lenco” ตัวเขาเองเรียนจบมาทางนักออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านงานออกแบบผลิตภัณฑ์มาทั้งชีวิต จนกระทั่งในปี 2005 ก็ได้มีโอกาสเริ่มต้นงานสร้างเทิร์นเทเบิลที่มีพื้นฐานมาจาก “Lenco” โดยมีแนวคิดที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพมากขึ้น จนเป็นที่มาของ PTP หรือ Peter Top Plate เวอร์ชันแรก ถือกำเนิดขึ้นในกลุ่มนักเล่นที่ชื่นชอบ “Lenco” ในฟอรัม lencoheaven.net พัฒนาต่อมาอีก 6 เวอร์ชัน แล้วทำไม??? ต้องเป็น “Lenco” และต้องเป็น Heavy Platter เท่านั้น!!!

เรามาทำความรู้จักกับ “Lenco” กันครับ โดยจะมีเทิร์นฯอยู่หลายรุ่นเช่นกันรุ่นที่ผลิตออกมาช่วงปลายยุค 1950 จะมีพื้นฐานการออกแบบสองแนวทางด้วยกัน โดยรุ่นที่เป็นเรือธงจะใช้เพลตเตอร์ที่เป็นโลหะที่ไม่เป็นสารแม่เหล็กหล่อขึ้นรูปทั้งตัว น้ำหนักเพลตเตอร์ราวๆ 9 ปอนด์ (ราวๆ 4 กิโลกรัม) เรียกว่ารุ่น “Heavy Platter” และรุ่นราคาประหยัดที่ใช้เพลตเตอร์เป็นโลหะปั้มขึ้นรูปน้ำหนักเพลตเตอร์เบากว่าเรียกว่ารุ่น “Light weight” แต่ที่นิยมเอามาทำเทิร์นเทเบิลที่มีพื้นฐานมาจาก “Lenco” กันจะเป็นรุ่น “Heavy Platter” หรือเพลตเตอร์หนัก เป็นเพลตเตอร์โลหะหล่อหนักแน่นมั่นคงมาก โดยมีทั้งทำแท่นใหม่ใช้ Top Plate เดิม หรือรื้อเอาเฉพาะมอเตอร์ กับชุดเพลตเตอร์มาอย่างเดียวเพื่อติดตั้งกับชุด PTP Kit

“Lenco” รุ่น Heavy Platter ตัวเพลตเตอร์จะถูกสวมเข้ากับแกนขนาดใหญ่รองด้วยลูกปืน งานสร้างทางวิศวกรรมที่มีความแม่นยำสูงมาตรฐาน Swiss Made แต่ในยุคนั้นก็มีเทิร์นเทเบิลที่เป็น Heavy Platter เหมือนกันที่ดูหนักแน่นขึงขังกว่าเป็นคู่แข่งนั่นก็คือ Garrard 301/401 ซึ่งกลับพบว่า Garrard ได้รับการตอบรับจากตลาดมากกว่า จึงได้เบียดจน Lenco หายไปจากตลาด ถ้านำเอาเทิร์นเทเบิล “Lenco” ที่เป็นแบบเพลตเตอร์หนัก ติดตั้งลงบนแท่นที่ออกแบบมาไม่ให้มีเรโซแนนซ์เลย จะทำให้เทิร์นเทเบิล Lenco สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้ดีมากๆ การเกิด Rumble ของเทิร์นเทเบล Lenco แทบจะไม่มีเลยหากมอเตอร์ถูกประกอบอย่างถูกต้อง และผ่านการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ตัวแท่นวางบนระบบซัสแพนชั่นที่ใช้งานได้ดี และลูกยาง Idler อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ถ้าครบสามองค์ประกอบนี้เทิร์น Lenco ก็จะสามารถเล่นได้ในแบบที่เรียกว่า rumble-free เลยครับ

ลูกยาง Idler ของ Lenco มีอยู่สองชนิดคือแบบที่ใช้แกนเป็นพลาสติค และเป็นอลูมิเนียม ยิ่งถ้าเป็นเทิร์นเทเบิล Lenco รุ่นหลังๆตัวแกนลูกยางจะเป็นโลหะสีบรอนซ์ ลูกยาง Idler ที่แกนเป็นพลาสติคส่วนใหญ่จะแข็งหมดแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานแย่ลงไปมาก ส่วนแบบที่แกนเป็นโลหะลูกยางจะอยู่ในสภาพที่ดีกว่า เนื่องจากจะเป็นรุ่นหลังๆแล้วที่ใช้ลูกยางแบบนี้ครับ แต่ไม่ต้องห่วงว่าได้มาแล้วลูกยางอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ เนื่องจากอะหลั่ยของ “Lenco” ยังพอหาได้ และยังมีบางชิ้นผลิตใหม่อยู่ครับ

Lenco L60 ผลิตออกมาประมาณปี 1959 เป็นเทิร์นเทเบิลเพลตเตอร์หนักรุ่นแรกของ Lenco หายากมาก Goldring GL60 แกนโยกปรับความเร็วจะอยู้ด้านซ้าย ปุ่มเปิดปิด กับคันโยกอาร์มลิฟต์จะอยู่ด้านขวา ซึ่งเป็นการออกแบบที่พัฒนาดำเนินรอยตามอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี Lenco L60 จะเคลือบสีอีมาเนลสีเทา แมทยางลายวงกลมแบบนี้ใช้ต่อเนื่องมาในรุ่น  59/70/88/99 และระบบลูกยางขับก็อาศัยพื้นฐานการออกแบบตามแนวของ L60 โทนอาร์มของ L60 เป็นเบกาไลต์ หรือพลาสติค ทรงโค้งดูสวยงามแปลกตา เป็นรุ่นที่หายากมากๆ

Lenco L59 ผลิตออกมาประมาณปี 196x เคลือบสีอีมาเนลสีเท่าอ่อน ติดเพลตสีเงินขนาดเล็กใต้คันโยก หน้าตาสวยงาย ตัวเพลตเตอร์มีการเคลือบสีอีมาเนลด้านบนเพลตเตอร์

Lenco L70 ผลิตออกมาปี 1962 รุ่นแรกๆจะคล้ายๆกับ L59 เหมือนจนเรียกได้ว่าเป็นตัวเดียวกัน ต่างกันเพียงแค่โทนอาร์ม รุ่นที่ผลิตในปี 1967 จะปรับรูปแบบของแมตใหม่ และใช้เพลตเตอร์แบบไม่เคลือบสี ซึ่งรุ่นต่อๆมาก็จะใช้เพลตเตอร์แบบนี้ตลอด L70 ออกมาช่วงเวลาเดียวกับเทิร์นที่เป็น Light Platter รุ่น B69

Lenco L77 ผลิตออกมาปี 1965 โดยพื้นฐานมันก็คือรุ่น L70 แต่ติดตั้งโทนอาร์ม P77 ให้มาด้วย (ปกติโทนอาร์ม P77 จำหน่ายแยกต่างหาก)

Lenco L75 ผลิตออกมาในปี 1970 เป็นการปรับเปลี่ยนสไตล์การออกแบบใหม่ คาดเพลตอลูมิเนียมเต็มด้านหน้าทั้งหมด ติดตั้งโทนอาร์ม L75 ให้มาเลย ถ้าเป็นรุ่น L75P จะมีหน้าตาแท่นต่างออกไปจากรุ่นปกติ แผ่นแมตยางรูปแบบใหม่มีเพลตอลูมิเนียมตรงกลางแมต L75 เป็นเทิร์นเทเบิลที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เรียกว่าออกสื่อกันเป็นพะเรอเกวียน แม้ว่าวารสารบางเล่มติเตียนเทิร์นเทเบิลระบบ Idler ในทางเสียๆหายๆ แต่ก็ไม่อาจทานกระแสความนิยมของ L75 ซึ่งยังขายดิบขายดีอยู่นั่นเอง (อาจเป็นเพราะนักเล่นตัดสินใจด้วยหูของตัวเองมากว่า คำวิจารณ์ของนักเขียน?) Lenco L75 ถ้ามาขายในอังกฤษจะขายผ่านบริษัท Goldring ใช้ชื่อเป็น Goldring-Lenco รุ่น GL75 อาจจะเจอในแบรนด์อื่นๆในอังกฤษเช่น Leak ก็จะเป็นรุ่น Leak Delta GL75 และ Goodmans จะแปะเพียงยี่ห้อ แต่คู่มือที่ติดมาจะเป็นของ Goldring ถ้าไปขายในอเมริกาก็จะใช้ผ่านบริษัท Bogen ซึ่งจะเป็นมอเตอร์ 60Hz ครับ โทนอาร์ม L75 มีตุ้มถ่วงน้ำหนักที่สามารถถอดออกได้ ระบบจุดหมุนแบบ V-blocks  และระบบชดเชยแรงหนีศูนย์ (Anti-skating) ซึ่งเป็นโทนอาร์มที่ Lenco ได้ทุ่มเททำการทดลองระบบ V-blocks ประมาณ 1-2 ปี ก่อนจะผลิตโทนอาร์มรุ่นนี้ออกมา ตัวกลไก V-block เป็นยาง ถ้าเสื่อมก็ยังพอหาอะไหล่ได้อยู่ครับ

Lenco L78  ผลิตออกมาปี 1974 มันก็คือ L75 แต่เพิ่มกลไกสำหรับหยุดอัตโนมัติ ซึ่งจะมีการเดินสายอาร์มมาต่อกับตัวตัดต่อโฟโนเข้ากับกลไกหยุดอัตโนมัติด้วย กลไกอัตโนมัตินี้จะเป็นลวดเล็กๆใกล้กับกลางเพลตเตอร์ ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานให้กับอาร์มลิฟต์ และสวิทช์ปิดมอเตอร์ การทำงานจะสัมพันธ์กับการกวาดของโทนอาร์มเมื่อแผ่นหมด แผ่นแมตเป็นยางหนาลายวงกลม เฮดเชลล์ของ L78 เป็นแบบบางน้ำหนักเบา ถ้าเฮดเชลล์รุ่นเก่าจะหนาและเจาะรูหลายๆรูเพื่อลดน้ำหนัก ทั้งสองแบบสามารถใส่แทนกันได้ L78 รุ่นหลังๆจะไม่มีเพลตอลูมิเนียมแต่จะเป็นสีเคลือบสีดำ ตัวหนังสือสีขาว ซึ่งมีคุณภาพดีกว่ารุ่นแรกๆ

Lenco 88  ผลิดออกมาในปี 1962 เทิร์นเทเบิลที่ไม่มีโทนอาร์มมาด้วย เป็นการเอา L70 มาลงตัวถังเล็กลง เรียกว่าเป็น poor-man Garrard 301 รูปร่างก็คล้ายๆกัน แม้จะไม่ขลังเท่า Garrard 301 แต่ก็ดูมีเสน่ห์ไปอีกแบบด้วยสีเคลือบอีนาเมลสีครีม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

Lenco 99  ผลิตออกมาในปี 1965 เรียกว่าเป็นการนำเอา 88 มาปรับโฉมตามกาลเวลาเพื่อล้อการออกแบบของ Garrard 401 เป็นเทิร์นแบบ Idler รุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ Lenco ไม่ใช้คันโยกเปลี่ยนความเร็วรอบ Lenco 99 กลับไปใช้ปุ่มหมุนในการปรับความเร็ว เช่นเดียวกับ Garrard 401 เทิร์น Lenco 99 จะมีสโตรปไลต์สำหรับเช็ครอบ กับสโตรปมาร์คด้านข้างเพลตเตอร์ โดยมองผ่านกระจกสะท้อนอีกที เป็นเทิร์น Lenco ที่ขาดเสน่ห์ความเป็น Lenco ไปอย่างมาก

 

ข้อแตกต่างของมอเตอร์ Lenco ที่น่ารู้

มอเตอร์ของเทิร์นเทเบิล Lenco จะเป็น AC Motor แบบ 4 Pole ควบคุมความเร็วรอบสัมพันธ์กับความถี่ของไฟบ้าน โดยที่ความเร็วรอบจะไม่เปลี่ยนตามแรงดัน ซึ่งถือว่าเป็นมอเตอร์เทิร์นเทเบิลที่ดีที่สุดอีกตัวหนึ่ง  จะมีมอเตอร์ของ Lenco ที่แตกต่างกันหลักๆสองเวอร์ชันคือ เวอร์ชัน 110/220 volt 50 Hertz (ยุโรป) และ 110 volt 60 Hz (อเมริกา) ทั้งสองเวอร์ชันจะกินกำลังไฟประมาณ 15-19 วัตต์ (กระแสใช้งานจริงๆ: 85 ma @ 220V/50 Hz, 140 ma @ 110V/60 Hz) ยังมีมอเตอร์แบบที่สามที่หายากมากๆก็คือมอเตอร์ 110/220 volt, 50/60 Hz  ปกติมอเตอร์ Lenco จะติดเลเบลระบุว่าใช้สำหรับเทิร์นเทเบิล

จุดสำคัญมากที่สุดก็คือมอเตอร์เป็นแบบ 50 Hz หรือ 60 Hz ซึ่งดูได้จากขนาดของแกนเพลา และขดลวด มอเตอร์ที่เป็น 60Hz จะมีขนาดแกนเพลาเล็กกว่าประมาณ 20% เพราะความเร็วรอบจะสูงกว่าที่ความถี่ 60 Hz มอเตอร์จะมีขดลวดสองขดขนาบข้างโรเตอร์ ขดลวดสามารถต่ออนุกรม หรือขนานกันได้ ทำให้สามารถปรับแรงดันป้อนให้กับมอเตอร์ได้ (ขด 110/220 V) ทำให้สามารถเลือกแรงดันได้ในกรณีที่เป็นเวอร์ชัน 110/220 แต่ถ้าเป็นเวอร์ชัน 110V อย่างเดียวต้องต่อขดลวดอนุกรมเท่านั้น และใช้ได้กับแรงดันไฟ 110V เท่านั้น! ข้อควรจำคือมอเตอร์ที่เป็นเวอร์ชัน 110V อย่างเดียวในไดอะแกรมบนตัวมอเตอร์อาจจะเขียนว่าสามารถต่อสายเป็น 220V ได้ ซึ่งความจริงคือทำไม่ได้เพราะจะทำให้มอเตอร์เสียหายได้ ดังนั้นไดอะแกรมบนตัวมอเตอร์จึงไม่สามารถใช้บ่งชี้ได้ว่าเป็นมอเตอร์ เวอร์ชันไหน ถ้าต่อมอเตอร์ไม่ถูกก็จะไม่หมุนเลย หรือถ้าหมุนก็จะสั่นหรือฮัม

การระบุขนาดโรเตอร์

แกนเพลาจะมีจะลักษณะเป็น Taper แต่จะเป็นขั้นระหว่างรอบ 16 และ 33 rpm มอเตอร์ 50Hz แกนเพลาจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11.5 mm ที่ขนาดเพลาโตที่สุด และ 5.4 mm ที่ตำแหน่งขั้นระหว่างรอบ มอเตอร์ 60Hz แกนเพลาจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10.5 mm ที่ขนาดเพลาโตที่สุด และ 4.4 mm ที่ตำแหน่งขั้นระหว่างรอบ

การระบุขนาดขดลวด

ขดลวด 50 Hz ปกติจะพันด้วยเทปสีเหลืองรอบๆขดลวด ซึ่งจะเป็นเวอร์ชัน “110/220 volts 50 Hz” ส่วนขดลวด 60 Hz ปกติจะพันด้วยเทปสีเขียว มอเตอร์ 50/60 จะปรับแรงดันได้ทั้งคู่ ความต้านทานของขดลวดแต่ละขดจะอยู่ประมาณ 250 Ohm สำหรับขดลวด 50 Hz และ 70 ohms สำหรับขดลวด 60 Hz ดังนั้นเราอาจจะระบุความถี่ของมอเตอร์ได้ง่ายๆโดยการวัดความต้านทานที่ขั้ว ปลั้กเมื่อเปิดสวิทช์ได้เลยดังนี้:

– 500 Ohm จะเป็นมอเตอร์เวอร์ชัน 110/220 volt, 50 Hz, ต่อสายอนุกรมกันสำหรับใช้งานแรงดัน 220 V (ประมาณ 520 Ohm สำหรับมอเตอร์รุ่นเก่าๆ)
– 125 Ohm จะเป็นมอเตอร์เวอร์ชัน 110/220 volt, 50 Hz, ต่อสายขนานกันสำหรับใช้งานแรงดัน 110 V (ประมาณ 130 Ohm สำหรับมอเตอร์รุ่นเก่าๆ)
– 140 Ohm จะเป็นมอเตอร์เวอร์ชัน 110 volt, 60 Hz, ต่อสายอนุกรมกันสำหรับใช้งานแรงดัน  110 V
– 35 Ohm จะเป็นมอเตอร์เวอร์ชัน  110 volt, 60 Hz ต่อสายขนานกันซึ่งผิด

จากข้อมูลในข้างต้นคงทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับเทิร์นเทเบิล “Lenco” มากขึ้นอีกหน่อย เป็นเทิร์นเทเบิลที่น่าเล่นอีกตัวหนึ่งในขณะที่เทิร์นฯเบญจภาคีราคาติดลมบนไปแล้ว จะเลือกเล่นแบบดั้งเดิม แบบลูกผสม Top Platter เดิมลงแท่นไม้อัดซ้อนเป็นชั้นๆ หรือจะรื้อทำใหม่ในแบบฉบับ PTP Kit ก็ตามสะดวกครับ หลังจากที่ผมทำ Lenco PTP 5 เสร็จแล้ว จะมาเล่ารายละเอียดขั้นตอนในการทำมาให้อ่านกันอีกทีครับ