เสน่ห์เสียง Western Electric

“Western Electric” ชื่อที่มีมนต์ขลังทุกครั้งที่นึกถึงเสมอสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจ เพราะไม่ว่าอะไรก็ตามที่พะยี่ห้อนี้ มันต้องแพงไปซะทุกชิ้นสิท่า ไม่ว่าจะเป็น หลอดสุญญากาศ, หม้อแปลงอินพุต เอาต์พุต อินเตอร์สเตจ หม้อแปลงไฟ โช๊ค, อุปกรณ์พาสซีฟว์พวกตัวต้านทานหน้าตาแปลกๆ ตัวเก็บประจุตัวเขื่องๆ  หรือแม้กระทั่งเศษสายไฟ มูลค่าที่เกิดขึ้นจากความเป็น “Western Electric” นี่เอง ยิ่งเป็นเครื่องเสียงวินเทจเพาเวอร์แอมป์ ลำโพง ด้วยละก็แทบไม่ต้องคิดเลยว่ามูลค่าจะไปเป็นเท่าไหร่ครับ

อยากสัมผัสเสน่ห์เสียงเฉพาะตัวในแบบฉบับ “Western Electric” บ้างต้องทำอย่างไร? แบบง่ายที่สุด และไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก ก็เห็นจะเป็นบรรดาสายไฟนี่แหละครับ มีให้เลือกเล่นมากมาย มีทั้งสายแกนเดี่ยว แกนฝอย สายลำโพง สายสัญญาณ ผมแนะนำให้เริ่มต้นที่สายลำโพงก่อนครับ สายลำโพงยอดนิยมสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงวินเทจก็คือ  Belden 9497 เป็นสายที่ได้รับการยอมรับกันว่าดีมาก และเหมาะสมสำหรับการใช้งานกับเครื่องเสียงวินเทจ ลักษณะสายเป็นสายไฟตีเกลียวสองเส้นฉนวนสีส้มกับสีดำ บ้านเราเรียกกันติดปากว่า “สายส้มดำ” ช่วงเริ่มต้นเล่นเครื่องเสียงวินเทจผมเคยอยากได้สายส้มดำเข้ามาประจำการเช่นเดียวกับนักเล่นหลายๆท่าน เลยส่งอีเมล์ไปหานักเล่นที่ญี่ปุ่นว่าอยากได้สายส้มดำนี้ช่วยจัดหาให้สักหน่อยจะได้ไหม? ปรากฏว่าพี่ท่านตอบอีเมล์มาแบบเรียบเฉยว่า “ใครเข้าเล่นกัน มันต้องสายWestern Electric  สิถึงจะได้เรื่อง” หลังจากนั้นอีกอาทิตย์ถัดมาก็เลยได้สายตัวนำฝอยหุ้มผ้าสีเหลืองๆกลิ่นตุ่ยๆมาขดหนึ่ง เชื่อมั้ยครับว่าสายเหม็นๆเก่าๆขดนี้ให้เสียงที่มีเสน่ห์ต่างไปจากสายลำโพงปกติมากทีเดียวครับ

สายของ Western Electric แท้ๆต้องมาจากแหล่งที่ไว้ใจได้ เพราะมีสายหุ้มผ้าหลากหลายแบบที่ขายกันเกลื่อนอีเบย์ก็ล้วนอ้างว่าเป็นสาย Western Electric กันทั้งนั้น ก็ต้องวัดดวงกันหน่อย ผมเลือกสั่งจากนักเล่นญี่ปุ่นเอา ไว้ใจได้แน่นอน เพราะพี่ท่านเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ “Western Electric” ที่ญี่ปุ่น  ถ้าลองสั่งจากอีเบย์ก็ให้เลือกขนาดสายเบอร์ประมาณ 20-16 ga ก็พอครับ ไม่ต้องถึงขนาด 11 ga เพราะมันจะใหญ่เกินไปใช้งานลำบาก แต่ถ้าสั่งจากนักเล่นญี่ปุ่นขนาดไม่ต้องระบุ แล้วแต่พื่ท่านจะจัดให้ บางครั้งก็ได้สายใหญ่ บางครั้งก็ได้สายเล็กครับ ส่วนสายสัญญาณ หรือสายไฟก็ลองกันเองนะครับ สำหรับผมสายลำโพงก็เพียงพอแล้วครับ

หลอด Western Electric เป็นที่ยอมรับกันว่าดีที่สุด แต่กลับมีเบอร์ใช้งานกับเครื่องเสียงวินเทจตรงๆได้ไม่มากนัก หลอดเพาเวอร์ไตรโอด 300B, 300A ถ้าใครมีเครื่องเสียงวินเทจที่ใช้หลอดเบอร์นี้ก็น่าจะเป็นระดับเซียนของวงการแน่นอน เนื่องจากเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้หลอดเบอร์นี้ถ้านึกออกคงมีไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง ยิ่งถ้าเป็น Western Electric 91, 86 ด้วยละก็ต้องว่ากันที่เลขเจ็ดหลักเลยทีเดียว แต่ถ้าแอมป์สมัยใหม่ที่ใช้หลอด 300B หรือแอมป์ DIY หลอด 300B Western Electric ล้วนเป็นที่หมายปองของนักเล่นทุกท่าน หลอด WE 300B ดีที่สุดจะเป็นรุ่นแรกๆฐานสลัก หรือ Engraved  Base แน่นอนว่าราคาสูงที่สุดที่เลขหกหลักต่อหลอด รองลงมาก็จะเป็นสกรีนเหลืองปีเก่าๆก็ย่อมลงมาเหลือเลขหกหลักต่อคู่ และค่อยมาเป็นหลอดสกรีนเหลืองปีหลังๆที่ทำลงกล่องไม้สวยงามครับ

หลอดเรคติฟาย 422A, 274B มีขา 4 ขา ถ้าเอามาใช้งานแทนหลอด 5U4G ต้องมีอะเด็ปเตอร์แปลงขาจาก 4 ขาเป็น 8 ขา ราคาประมาณห้าหลัก สามารถสัมผัสประการณ์เสียงสไตล์ “Western Electric” ได้ไม่ยากนัก

หลอด 5755, 420A เป็นหลอดไตรโอดคู่ สเปคเหมือนกับ 12AX7 ราคาประมาณสี่หลัก เอื้อมได้เอื้อมถึงสำหรับนักเล่นที่งบไม่สูงมาก แต่ขาของ  5755 จะไม่เหมือน  12AX7 เลยทีเดียวเสียบแทนตรงๆไม่ได้ ต้องใช้อะเด็ปเตอร์แปลงขาก่อนเช่นกัน ถ้าได้ลองใช้แล้วจะติดใจน้ำเสียงที่ต่างไปจาก 12AX7 ทั่วไป ให้เลือกหลอด 5755 ของ Western Electric ที่เพลตเป็นทรงกล่อง หรือ Box Plate เพราะจะมีหลอดยี่ห้ออื่นที่เป็นเบอร์เดียวกันอีกด้วยครับ

หม้อแปลง Western Electric สำหรับหัวเข็ม MC เป็นตัวเติมเสน่ห์เสียงสไตล์ Western Electric เข้ามาในระบบง่ายๆเช่นกัน รุ่นยอดนิยมก็คือ 618 (A,B,C) ราคาและน้ำเสียงก็แตกต่างกันออกไป ราคาก็ต้องว่ากันที่หกหลัก ต้องมาจากแหล่งที่ไว้ใจได้เช่นกัน เพราะราคาดีแบบนี้เลยมีการทำปลอม และทำรีอิชชูออกมาจากหลายๆแหล่ง เสียงจะสู้ของเดิมๆไม่ได้ครับ สำหรับนักเล่นที่งบไม่สูงมากลองชำเลืองหาหม้อแปลงอินพุต  Langevin 412B ซึ่งเป็นลูกหลานสายตรงของ 618C ที่ให้สไตล์เสียงใกล้เคียงมากครับ

เพาเวอร์แอมป์หรือปรีแอมป์ที่พะยี่ห้อ “Western Electric” แท้ๆอย่างรุ่น 91, 86 หายากมาก แถมราคาว่ากันเป็นเลขเจ็ดหลักกันทั้งนั้น ใครมีในครอบครองโปรดเรียกให้ไปฟังจะเป็นพระคุณมากครับ จะมีตัวย่อมๆลงมาที่ยังพอหาได้ก็เห็นจะเป็นรุ่น 142, 124 ที่ใช้หลอด 350B หรือ 6L6 WE นั่นแหละครับ ราคาเลขหกหลัก หรือ Muzak PB128A ที่ใช้หม้อแปลง Langevin ทั้งตัว และใช้หลอด 350B เช่นกัน ราคาย่อมๆกว่า 142, 124 สไตล์เสียงของแอมป์ Western Electric แท้ๆไม่ได้โบราณอย่างที่คิด เนื้อเสียงเข้มข้น รายละเอียดเสียงดีมาก ชิ้นดนตรีขึ้นรูปสวยงาม และสมจริง ถ้ามีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เสียงสไตล์แอมป์ Western Electric แท้ๆสักครั้งท่านจะลืมไม่ลงเทียว

ลำโพง Western Electrc ถ้างบประมาณไม่ใช่อุปสรรคก็ได้เลยครับ แต่ปัญหาคือจะหาได้หรือเปล่า เพราะระบบลำโพง Western Electric ถูกเก็บเข้ากรุนักเล่นนักสะสมไปจนหมดแล้ว จะมีก็ลำโพงฟูลเรนจ์ที่ออกมาให้ประมูลแข่งกันเป็นระยะๆเช่น 755A, 728B เป็นต้น พวกฮอร์นใหญ่ๆ วูฟเฟอร์ และคอมเพรสชันไดร์เวอร์ ที่เป็น Field Coil หรือลำโพงยุคไม่มีแม่เหล็ก หายากมากๆและราคาแพง ถ้าเลือกเดินทางสายนี้บางชิ้นส่วนก็เลือกรีอิชชูก็น่าจะพอไหวครับ อย่างฮอร์น 22A ก็มีของจีนยี่ห้อ Line Magnetic , ฮอร์น 16A ก็มีของเกาหลี ที่นักเล่นกลุ่มหนึ่งในบ้านเราสั่งกันเข้ามาร่วม 13 ตัว!!! ถ้าครบวงจรจริงๆก็ต้อง GIP Laboratory ที่ผลิตทั้งคอมเพรสชันไดร์เวอร์ 555W, 594A, D-5015A วูฟเฟอร์ 4189A, 4601A, ทวีตเตอร์ 597A รวมไปถึงฮอร์น และตู้ Baffle หลายๆแบบ เพราะเป็นเจ้าเดียวที่ได้สิทธิ์การผลิตใหม่จาก “Western Electric”