วัฒนาการของวินเทจมอนิเตอร์ ตอนที่ 1

อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงในยุคแรกนั้นจะใช้การอัดเสียงร้อง เสียงดนตรี ผ่านกระบอกเปลี่ยนเสียงให้เป็นแรงสั่นเพื่อให้ปลายเข็มสร้างร่องรอยลงบนแผ่นโลหะ ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตแผ่นครั่งต่อไป ยังไม่มีการใช้ลำโพงมอนิเตอร์ใดๆในการตรวจเช็คคุณภาพการบันทึกเลย ลำโพงมอนิเตอร์เริ่มเข้ามามีบทบาทในยุคที่สื่อบันทึกเทปแม่เหล็กเกิดขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง ความสำคัญของลำโพงมอนิเตอร์คือต้องสามารถรายงานคุณภาพเสียงที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการทำการบันทึกเสียง ในยุคแรกลำโพงมอนิเตอร์มีขนาดใหญ่โตมาก จึงเกิดความพยายามลดขนาดมอนิเตอร์ให้เล็กลงโดยมี Lansing Manufacturing ของ James  Lansing ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ Shearer Horn project ในปี 1934 ระบบลำโพงนี้ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานสำหรับลำโพงมอนิเตอร์ให้เสียงครอบคลุมความ ถี่เสียงได้กว้าง, ถูกต้อง และแม่นยำ

หลังจากที่ Shearer Horn เปิดตัวไปแล้ว James Lansing ก็ได้เริ่มนำเอาเทคนิควิธีการเพื่อสร้างลำโพงมอนิเตอร์ที่ให้คุณภาพเสียงใน ระดับเดียวกันกับ Shearer Horn โดยได้เริ่มต้นครั้งแรกในปี 1936 เมื่อ Lansing Manufacturing ได้เปิดตัวระบบลำโพงที่ลดสเกลของ Shearer Horn ลงมาโดยเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนามของ Monitor System 500A และเขายังคงดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปี 1937 โดยพัฒนาระบบลำโพงที่เล็กลงเรียกว่า Iconic ซึ่งยังคงใช้ฮอร์นแบบหลายช่องดังเช่นงานออกแบบก่อนหน้านี้ แต่ลดขนาดให้เล็กลง และใช้ตู้เบสส์แบบมีพอร์ต ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่มีคุณภาพสูง แต่ขนาดของ Iconic ก็ยังไม่เล็กพอสำหรับการใช้งานในห้องควบคุมเสียงหลายๆแห่งได้ แต่โครงการพัฒนามอนิเตอร์ของ Lansing กลับต้องสะดุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1939 ผู้บริหารการเงิน Kenneth Decker ประสบอุบัติเหุตเครื่องบินตก ทำให้ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก Altec Service Corporation จึงได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Lansing Manufacturing ในวันที่ 4 ธันวาคม 1941 โดยมีข้อตกลงกันว่าต้องไม่มีการตั้งบริษัทผลิตลำโพงเพื่อแข่งขันกันภายในระยะเวลาห้าปี และ James Lansing นั่งตำแหน่ง Vice President ในส่วนของการผลิต กลายเป็นบริษัท “Altec Lansing”

ในช่วงเวลานั้นเองที่ James Lansing ได้พัฒนามอนิเตอร์ที่มีนัยมากที่สุดในอุตสาหกรรมการบันทึกเสียง นั่นก็คือมอนิเตอร์ Altec Duplex เป็นไดร์เวอร์ลำโพงเลื่องชื่อที่สุดที่ยากจะหาใครทัดเทียมได้ ดำเนินการผลิตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1943 มาจนถึง 1998 และเป็นบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ว่าเป็นมาตรฐานหลักของระบบลำโพง มอนิเตอร์ โดยใช้งานตั้งแต่ยุค 1950 มาจนถึง 1970 ลำโพง Altec 604 ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมการบันทึกเสียง และสตูดิโอกระจายเสียงมากกว่าลำโพงมอนิเตอร์ยี่ห้อ รุ่นอื่นๆรวมกันเสียอีก วิธีการแก้ปัญหาเรื่องขนาดของมอนิเตอร์ที่ว่าต้องการให้มีขนาดเล็ก แต่ให้คุณภาพเสียงดีเยี่ยมก็คือการเลือกใช้ไดร์เวอร์แบบแกนร่วมหรือ coaxial แนวคิดของระบบลำโพงแบบแกนร่วมที่ถูกนำมาใช้ในระบบลำโพงมอนิเตอร์ ถูกเสนอโดยดีลเลอร์ของ Altec Lansing เองนั่นคือ Art Crawford ทำให้ James Lansing ดำเนินการพัฒนาไดร์เวอร์ตามแนวคิดที่ถูกเสนอขึ้นมาในแทบจะทันที ซึ่งพบว่านอกจากจะลดขนาดของลำโพงลงมาได้มากแล้ว ยังได้ระบบลำโพงที่มีต้นกำเนิดเสียงที่เสมือนว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน James Lansing เคยพบว่าปัญหาระบบลำโพงสองทางเมื่อใช้งานเป็นมอนิเตอร์แบบเนียร์ฟิลด์จะให้ ประสิทธิภาพไม่ดีนักเนื่องจากมีต้นกำเนิดเสียงมาจากสองจุด

แนวคิดการออกแบบลำโพงแบบแกนร่วมของ Lansing เป็นการปรับปรุงให้สามารถติดตั้งคอมเพรสชันไดร์เวอร์รุ่นเล็ก Lansing 801 ไว้ด้านหลังของเบสส์ไดร์เวอร์ขนาด 15″  เขาได้วางตำแหน่งปากฮอร์นของคอมเพรสชันไดร์เวอร์อยู่ภายในวอยซ์คอยล์ของ เบสส์ไดร์เวอร์ 15″ และติดตั้งฮอร์นแบบหลายช่องขนาดเล็กลงไป โดย Lansing ได้ค้นพบว่าฮอร์นต้องสามารถควบคุมการกระจายเสียงของคอมเพรสชันไดร์เวอร์ไม่ ให้ไปตีกันกับเสียงจากกรวยลำโพง และบริเวณขอบลำโพง ด้วยเหตุนี้เอง Lansing จึงได้เลือกใช้ฮอร์นแบบ 2×3 ช่องติดตั้งในแนวนอนทำมุม 60 องศา ตัวฮอร์นเคลือบด้วยวัสดุผิวหยาบ, มีส่วนผสมที่หยุดการสั่นค้างของฮอร์น เพื่อหยุดการเรโซแนนซ์ของฮอร์นที่ไม่ต้องการได้ แต่ต้องไม่สะท้อนเสียงที่มาจากขอบกรวยของไดร์เวอร์เบสส์ การเลือกใช้ฮอร์นหลายช่องขนาดเล็กทำให้จุดตัดความถี่ค่อนข้างสูง นั่นคือความถี่คัตออฟของฮอร์นจะอยู่ที่ 900hz และจุดตัดความถี่ครอสส์โอเวอร์ถูกกำหนดไว้ที่ 1200hz โดนมีความชันที่ 12db/octave

ตัวเบสส์ไดร์เวอร์เป็นกรวยกระดาษขนาด 15″ ติดตั้งวอยซ์คอยล์ 2″ เนื่องจาก pole piece ของไดร์เวอร์ติดตั้งไว้ค่อนข้างลึก ทำให้ต้องติดตั้งวอยซ์คอยล์แบบ  Underhung Coil Topology เพื่อให้วอยซ์คอลย์ได้รับเส้นแรงแม่เหล็กได้อย่างคงที่ แม้ตอนที่ลำโพงกระพือมากๆ ไดร์เวอร์ทั้งสองตัวใช้สนามแม่เหล็กจากฟิลด์คอยล์ขนาดใหญ่ติดตั้งลงในพ็อต หนาหนัก และมีช่องแก็ปเล็กมากๆเพื่อให้เกิดความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงๆ ทำให้ได้ไดร์เวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากๆโดยมีความเพี้ยนเสียงต่ำมากๆ

ในปี 1943 ไดร์เวอร์ฟิลด์คอยล์  Duplex ก็ถูกเปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อรุ่นว่า 601 (ซึ่งแนวการออกแบบไดร์เวอร์รุ่นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับรุ่น 601 ที่เปิดตัวในปี 1950 ที่เป็นลำโพงแกนร่วมใช้แม่เหล็กถาวรขนาด 12″) โดยไดร์เวอร์รุ่น 601 ดั้งเดิมจะมีทั้งแบบเป็นตัวไดร์เวอร์เปล่าๆ หรือติดตั้งลงตู้เอนกประสงค์ 602 หรือตู้เฟอร์นิเจอร์ 605 ในทันทีที่มีการเปิดตัวไดร์เวอร์ Duplex ไปแล้ว Lansing ก็ได้เริ่มต้นพัฒนาเวอร์ชันที่ใช้แม่เหล็กถาวรซึ่งต่อมากลายเป็นไดร์เวอร์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดนั่นก็คือ 604 Duplex ช่วงนั้นบริษัท Altec Lansing ได้มีบทบาทในการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้ในสงคราม โดยทำหน้าที่ผลิตอุปกรณ์สำหรับใช้งานสำหรับ Marine Airborne Detection การเข้าร่วมการพัฒนาระบบนี้ทำให้ทาง Altec Lansing ได้พบกับเทคโนโลยีแม่เหล็กใหม่นั่นก็คือวัสดุแม่เหล็ก Alnico V  เป็นแม่เหล็กชนิดใหม่ที่มีนัยสำคัญกว่าสูตรการผลิตแม่เหล็กอัลนิโกเดิมที่ ใช้ในการผลิตแม่เหล็กถาวรสำหรับลำโพง George Carrington ประธานของ Altec Lansing พบว่าแม่เหล็กชนิดใหม่นี้มีบทบาทต่อการออกแบบลำโพงมากๆ และได้รับอนุมัติให้สามารถนำเอา Alnico V ไปใช้งานกับผลิตภัณฑ์ของ Altec Lansing ได้

การปรับปรุงการออกแบบโครงสร้างแม่เหล็กใหม่นี้ Lansing ได้ตัดสินใจเพิ่มขนาดวอยซ์คอยล์เป็น 3″ โดยใช้ลวดแบนในการพันวอยซ์คอลย์ ในยุคนั้นถือว่าเป็นวอยซ์คอยล์ขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับการใช้งานในไดร์เวอร์ 15″ โดยเริ่มต้นทดสอบแนวคิดเป็นครั้งแรกกับลำโพงที่เปลี่ยนไปใช้แม่เหล็กถาวร โดนมีโครงสร้างการออกแบบที่มีขนาดเดียวกันกับไดร์เวอร์ที่เป็นฟีลด์คอย์ดั้ง เดิม (หมายเหตุ: ภาพประกอบโครงสร้างหน้าตัดของไดร์เวอร์จะเป็นของรุ่น 604-8G ที่ผลิตในปี  1975 ซึ่งใช้แม่เหล็กถาวรเช่นเดียวกัน จะคล้ายๆกับ 604 ดั้งเดิมที่ผลิตในปี 1944 จะมีโครงสร้างต่างไปบ้างก็สักสองสามจุด)

James Lansing ประสบความสำเร็จในการนำเอา Alnico V มาใช้ผลิตไดร์เวอร์ 604 Duplex ในปี 1944 เป็นลำโพงที่เหนือกว่าไดร์เวอร์รุ่น 601 ดั้งเดิมทั้งในแง่ประสิทธิภาพ และให้ระดับเสียงเอาต์พุตสูงกว่ามาก Lansing ค้นพบว่าลำโพงรุ่นนี้สามารถใช้งานได้ดีกว่าการเป็นลำโพงมอนิเตอร์ ทำให้เกิดการพัฒนาระบบลำโพงแบบอื่นตามมาโดยติดตั้งไดร์เวอร์รุ่น 604 ลงในตู้แบบต่างๆทั้งระบบการจายเสียง PA และทั้งระบบเสียงในบ้าน เรียกได้ว่าแทบจะประสบความสำเร็จในทันทีที่ไดร์เวอร์รุ่น 604 ได้ผลิตออกมา ทำให้ไดร์เวอร์ 604 กลายเป็นลำโพงมอนิเตอร์มาตรฐานสำหรับสตูดิโอบันทึกเสียงในยุคนั้น แม้กระทั่งในยุค 1980 มอนิเตอร์ที่ใช้ไดร์เวอร์ 604 ก็ยังคงเป็นลำโพงมอนิเตอร์ตัวหลัก James  Lansing มุ่งมั่นทำงานมาตลอดในช่วงเวลาห้าปีที่เขาอยู่ที่  Altec Lansing แต่เขากลับไม่มีความสุขกับหน้าที่ของตนเองในบริษัทนี้ แม้ว่าจะมีตำแหน่งเป็นถึง Vice President แต่เขากลับไม่อนุญาตให้กำหนดทิศทางใดๆให้กับบริษัทได้เลย และภายหลังครบกำหนดช่วงสัญญาผูกขาดเรื่องการห้ามเปิดบริษัทแข่งขันเป็นเวลา ห้าปียุติลง(ในปี 1946) เขาก็ก้าวออกจาก Altec Lansing ในทันทีที่หมดสัญญา และ James Lansing ตั้งชื่อบริษัทว่า Lansing Sound ผลิตไดร์เวอร์ D-101 มีโครงสร้างแข็งแรงคล้ายกับวูฟเฟอร์ 515 ซึ่ง Lansing ได้ทำการออกแบบไว้ก่อนที่จะออกจาก Altec Lansing   แต่ผู้บริหารของ Altec Lansing พบว่า James Lansing ตอนนี้ได้กลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ พวกเขาไม่พึงพอใจนักเกี่ยวกับการใช้ชื่อ “Lansing” ในการตั้งชื่อบริษัทใหม่ แถมยังใช้คำว่า “Iconic” ซึ่งทั้งสองคำต่างเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็น Altec Lansing พวกเขาเลยทำการติดต่อกับ James Lansing เพื่อที่จะให้ยุติการใช้ชื่อสินค้าเดียวกัน ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะเลิกใช้คำว่า “Iconic” และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ของเขาเป็น “James B. Lansing Sound, Incorporated.” หรือ JBL นั่นเอง