วัฒนาการของวินเทจมอนิเตอร์ ตอนที่ 2

ผลงานของ James Lansing ได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับลำโพงมอนิเตอร์ในยุคนั้นนั่นก็คือ Altec 604 แต่ตัว Jame Lansing เองกลับไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเมื่อก่อตั้ง JBL แต่ประการใด จนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1949 James Lansing ทำงานในวันปกติที่ Los Angeles และกลับไปที่ไร่ของเขาที่ San Marcos ในวันสุดสัปดาห์ เขาเริ่มห่างเหินจากการไปเยี่ยมพี่ชายของเขา Bill Martin ซึ่งปกติจะแวะทานพายกับกาแฟก่อนเดินทางไกล ในวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาแวะไปเยี่ยมพี่ชายของเขาเป็นครั้งสุดท้าย และในเย็นวันนั้นเขาก็มุ่งหน้าไปที่ไร่ใน San Marcos และจบชีวิตตัวเองลง เป็นตอนจบที่ไม่สวยงามนักในยุคของ James Lansing ผู้ที่ผ่านความท้าทาย และมีพลังขับเคลื่อนต่อพัฒนาการของระบบลำโพงตลอด 24 ปี การเสียชีวิตของ James Lansing ทำให้ดูราวกับว่าเป็นจุดจบของ JBL เนื่องจากในช่วงนั้นบริษัทกำลังติดหล่มของภาระหนี้สิน, การดำเนินกิจการโดยไม่เกิดผลกำไร และผู้ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่เป็นหน้าตาของบริษัทก็ลี้หนีหายไปสิ้น ทว่าจุดนี้กลับเป็นจัดเปลี่ยนผันของ JBL ที่ก้าวไปสู่ยุครุ่งเรือง และได้กลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมลำโพง หนึ่งในผู้ที่พลิกผันที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือ Bill Thomas ในยุคที่ JBL บริหารโดย Bill Thomas ได้ก่อกำเนิดลำโพงวินเทจที่เป็นตำนานตลอดกาลสองตัวนั่นก็คือ JBL Hartsfield และ JBL Paragon

ในยุคของ Bill Thomas ได้นำพาให้ JBL ก้าวสู่ตลาดลำโพงมอนิเตอร์ในปี 1962 ช่วงเวลานี้ Altec Lansing ชะล่าใจปล่อยให้ JBL ก้าวเข้ามาสู่ตลาดนี้ และต่อมา JBL ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ในยุคนั้น Altec Lansing เป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ โดยมีสินค้าที่ถือเป็นลายเซ็นหลักของ Atec Lansing นั่นก็คือไดร์เวอร์ดูเพล็กซ์รุ่น 604 ภายใต้ทีมบริหารใหม่ที่ Altec มีแนวคิดที่จะเพิ่มผลกำไรโดยการลดต้นทุนลง ทำให้มีการพัฒนาไดร์เวอร์ดูเพล็กซ์ขึ้นมาใหม่เรียกว่ารุ่น 605 ซึ่งใช้แม่เหล็กขนาดเล็กกว่า เพื่อทำตลาดในการเป็นไดร์เวอร์ราคาถูกแทนรุ่น 604 ทาง Altec เปิดตัว 605 ว่าเป็น “ไดร์เวอร์ใหม่ และผ่านการปรับปรุงแล้ว” ราคาขายปลีกเท่ากันกับ 604 และแจ้งว่า 604 จะหยุดผลิต ปรากฏว่าตลาดไม่ยอมรับไดร์เวอร์รุ่นใหม่ ทำให้ยอดขายของ 605 ร่วงกราวเมื่อเทียบกับ 604 และลูกค้าของ Altec ก็เริ่มมองหาลำโพงมอนิเตอร์อื่นเป็นทางเลือกใหม่แทน

หนึ่งในลูกค้าที่มองหามอนิเตอร์ทางเลือกใหม่นั่นคือ Capitol Records ที่ได้เริ่มติดต่อกับทาง JBL ในช่วงเวลานั้นทั้งสองบริษัทก็ได้เริ่มงานกันที่ Fletcher Drive หลังจากที่ Altec 605 ได้รับผลกระทบทางการตลาด หัวหน้าวิศวกรฝ่ายผลิตของ Capitol Record ติดต่อกับ Bart Locanthi ว่าทาง JBL สนใจที่จะพัฒนาสตูดิโอมอนิเตอร์ให้กับทาง Capital Record หรือไม่ ซึ่งทาง JBL ก็ตอบตกลงในทันที ซึ่ง Bart Locanthi ตอบรับข้อตกลงด้วยการพัฒนาไดร์เวอร์สำหรับใช้งานด้านสตูดิโอมอนิเตอร์ในซีรีย์ D50 งานออกแบบมอนิเตอร์ใหม่ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในเรื่องของตู้ลำโพงใหม่นั่นคือ รุ่น C50SM เป็นตู้ขนาดหกลูกบาศก์ฟุต ทำผิวแบบอินดันเทรียลใช้ชุดไดร์เวอร์ S7 หรือ S8 ซึ่งเดิมถูกพัฒนามาเพื่อใช้สำหรับลำโพงบ้านของ JBL ทาง Capitol ก็ประทับใจกับมอนิเตอร์ใหม่นี้มาก และกลายเป็นมาตรฐานสำหรับระบบมอนิเตอร์ของ Capital ที่ใช้ระบบลำโพงของ JBL กับสตูดิโอทุกแห่งของ Capital ลำโพงมอนิเตอร์รุ่นใหม่นี้ เริ่มต้นที่บริษัทแม่ของ Capital ตามมาด้วย EMI ที่อังกฤษ และทำให้ JBL กลายมาเป็นมาตรฐานของลำโพงมอนิเตอร์ของสตูดิอโอ EMI ทั่วโลก

Altec เริ่มจะรู้ตัว และเป็นกังวลกับการสูญเสียตลาดส่วนนี้ จึงได้พัฒนาไดร์เวอร์ 604 เวอร์ชัน “E” ออกมาในกลางยุคปี 60 ใช้ชื่อทางการตลาดว่า “Super Duplex” แต่ความเสียหายครั้งนี้เกินเยียวยาแล้ว ทำให้ Altec ยังคงสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับ JBL ในธุรกิจลำโพงสตูดิโอต่อไปเรื่อยๆ ในปี 1968 ทาง JBL ก็เริ่มสยายปีกสู่สังเวียนลำโพงมอนิเตอร์อีกครั้ง นั่นก็คือสองก้าวที่สำคัญของการครอบครองตลาดลำโพงมอนิเตอร์ ก้าวแรกคือการพัฒนามอนิเตอร์รุ่น D50S7SM ปรับเปลี่ยนไปเป็นรุ่น 4320 โดย Ed May ได้ทำการพัฒนาครอสส์โอเวอร์ขึ้นมาใหม่เพื่อใช้กับระบบลำโพงนี้ โดนเลื่อนจุดตัดเป็น 800 Hz ทำให้สามารถรับกำลังขับได้ดีขึ้น และผลการตอบสนองความถี่ต่ำ และความถี่สูงเหมาะสมขึ้น  จุดเด่นของการตอบสนองด้านกำลังขับที่ราบเรียบของชุดคิตไดร์เวอร์ S7 ถูกนำมาใช้กับตู้มอนิเตอร์ D50 และมอนิเตอร์ 4320 ก็ประสบความสำเร็จในทันทีที่ออกสู่ตลาด และสร้างความแข็งแกร่งให้กับ JBL ก้าวที่สองคือการพัฒนาลำโพงมอนิเตอร์ที่ลือชื่อมากที่สุดของ JBL และภายหลังยังสร้างความตื่นตัวอย่างมากให้กับตลาดลำโพงบ้านนั่นก็คือ มอนิเตอร์ 4310

ลำโพงมอนิเตอร์ 4310 ออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะมีเป้าหมายหลักเพื่อชนกับ Altec Lansing 604 โดยตรง นั่นก็คือพัฒนาให้ 4310 จำลองเสียงให้ออกมาคล้ายกับ 604 มากที่สุด โดยมีขนาดตู้เล็กกว่า 604 มาก ทำให้มอนิเตอร์รุ่น4310 ได้ปูทางให้ JBL ขึ้นมาผงาดในตลาดลำโพงมอเตอร์  ในยุคนั้นลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ 604 เป็นมาตรฐานหลัก เพราะลำโพงมอนิเตอร์ 604 มีจุดเด่นในเรื่องความแม่นยำของเสียง และสามารถเปิดอัดเสียงมิดเรนจ์ได้ดัง และการตอบสนองความถี่สูงไม่มีการโรลล์ออฟ แถมยังมีรากฐานเดิมที่ได้รับยอมรับของสตูดิโอในช่วงยุค 40 และ 50 ซึ่ง 604 ได้กลายเป็นมอนิเตอร์อ้างอิงสำหรับวิศกรสตูดิโอทุกคน ว่า 604 เป็นมอนิเตอร์ที่ให้ความแม่นยำทางเสียงมาก

ก้าวที่สองของสตูดิโอมอนิเตอร์ JBL ช่วงปลายยุค  ’60 ที่กลายเป็นนัยสำคัญตำนานของวงการ นั่นคือมอนิเตอร์แบบวางหิ้งรุ่น 4310 ซึ่งเป็นงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์ให้คุณภาพเสียงในแบบฉบับของ Altec 604 แต่มีตัวตู้เล็กกว่ามาก ซึ่งนับจากนี้ไป JBL ได้เริ่มก้าวสู่ถนนแห่งลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ แต่ก็ยังไม่สามารถเบียด Altec 604 ให้ออกจากกมาตรฐานวงการได้ และ Altec 604 ยังครองห้องสตูดิโอมาตั้งแต่ยุค ’40 จนถึง ’50 และเป็นมอนิเตอร์อ้างอิงของวิศวกรสตูดิโอที่คุ้นเคยกับ 604 มากกว่า เรียกได้ว่าถ้าเปรียบมวยตัวต่อตัวความแม่นยำของ 604 ยังได้เปรียบหลายช่วงตัว

จุดเริ่มต้นของ JBL 4310 มาจากความต้องการของ Bob Fine เจ้าของสตูดิโอชื่อดังในนิวยอร์ค เป็นผู้กำหนดแนวการออกแบบให้กับ 4310 เขาต้องการตู้ลำโพงที่มีขนาดเล็กลงเนื่องจากช่วงนั้นมีเครื่องบันทึกเทปแปด แทร็คเข้ามา Bob เป็นสตูดิโอแรกๆที่นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้งาน ซึ่งต้องการติดตั้งมอนิเตอร์แยกแต่ละแทร็ค ทำให้ไม่สามารถติดตั้งมอนิเตอร์ Altec 604 จำนวนแปดตัวลงในห้องคอนโทรลได้ และได้แจ้งความต้องการใช้มอนิเตอร์ขนาดกระทัดรัดไปทาง JBL โดยได้รับการตอบรับจากทาง JBL ในการพัฒนามอนิเตอร์ขนาดเล็กอย่างรุ่น  4310 ในเวลาอันสั้น และตรงกับความต้องการสำหรับประยุกต์ใช้งานในระบบสตูดิโอใหม่นี้พอดี

ช่วงยุค ‘60 จำนวนของสตูดิโออิสระขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมาย ลำโพงมอนิเตอร์ 4310 เหมาะเจาะกับห้องสตูดิดอขนาดเล็กมาก ขนาดของ 4310 เล็กพอที่จะติดเข้ากับคอนโซลสำหรับการใช้งานเป็นมอนิเตอร์แบบเนียร์ฟีลด์ ซึ่งเป็นจุดเด่นมากประการหนึ่งเพราะมีผลกระทบจากอะคูสติคของห้องน้อยกว่า การฟังเสียงมอนิเตอร์แบบใกล้ๆนี้ทำให้วิศวกรได้รับฟังเสียงตรงๆจากตัวมอนิเตอร์เลย แทนที่จะได้ฟังเสียงสะท้อนไปมาระหว่างผนังห้องและเพดาน ซึ่งเสียงที่สะท้อนไปมาทอนคุณภาพเสียงจากลำโพงลงไปมาก

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือในระหว่างการพัฒนามอนิเตอร์ 4310 ให้ได้เสียงที่เป็นธรรมชาติตามลำโพงอ้างอิงในยุคนั้น Ed May ซึ่งเป็นวิศวกรของ JBL ได้นำเอาลำโพงสองทางของ JBL รุ่น L88 มาเพิ่มไดร์เวอร์ LE5 เพื่อเพิ่มเสียงช่วงการตอบสนองย่านมิดเรนจ์มากเหมือนกับ 604 ในการพัฒนา 4310 ก็เอา 604 มาทดสอบฟังเปรียบเทียบกันหมัดต่อหมัด ซึ่ง Ed May ก็ได้ถ่ายทอดเสียงในแบบ 604 มายัง 4310 ได้อย่างหมดจดแม้ผ่านการฟังในเชิงนามธรรม