มาเล่นลำโพงฮอร์นกันเถอะ ตอนที่ 1

ช่วงเวลาที่ได้ศึกษาการออกแบบลำโพงสำหรับฟังเพลงในบ้านหลากแบบหลายรูป ทั้งในกระแสและนอกกระแสจนพบว่ามีลำโพงแบบหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งคุณอาจจะเดาออกจากชื่อของบทความ ใช่!แล้วลำโพงฮอร์น!!! คุณอาจจะนึกขำๆในใจว่า หมอนี่พูดถึงอะไรกันเนี่ย ทั้งเก่าล้าสมัยเสียงก๊องๆแก๊งๆ และเสียงแผดๆเพี้ยนๆ ใช่ไหม?


ลำโพงฮอร์นถูกจัดในหมวดเดียวกันกับแอมป์หลอดสูญญากาศ, เครื่องเล่นแผ่นเสียง และเครื่องเล่นเทปอะนาล็อก หรือเป็นเทคโนโนยีล้าสมัยนั่นเอง แต่เชื่อไหมว่าออดิไฟล์ที่เล่นเครื่องเล่นอะนาล็อก แอมป์หลอด และลำโพงฮอร์น ต่างบอกว่ามันทิ้งเครื่องเล่นซีดี แอมป์โซลิด ลำโพงกรวยชนิดไม่เห็นฝุ่นเลยว่างั้น
ระบบลำโพงฮอร์นใ้ช้พื้นที่ในการติดตั้ง และใช้งานมาก แถมยังต้องการเวลาในการทดลองปรับแต่งเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้อง คุณต้องหาแอมป์ที่เหมาะสมกับมัน อาจจะเล่นเป็นระบบไบ-แอมป์ (แยกแอมป์สำหรับขับเสียงความถี่สูง และความถี่ต่ำออกจากกัน) ต้องเลือกองค์ประกอบอย่างรอบคอบเหมาะสมเพื่อที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ
แต่เชื่อมั้ย?ว่าถ้าระบบลำโพงฮอร์นที่ลงตัวเป็นอย่างดีจะให้คุณภาพเสียงที่คุณต้องทึ่ง ทั้งในเรื่องของไดนามิคเรนจ์ และการตอบสนองเฉียบพลันของลำโพงฮอร์น สำหรับตัวผมเองแล้วพบว่ามันให้ความรู้สึกรับรู้ถึงแรงประทะของบทเพลง ซึ่งต่างไปจากลำโพงปกติที่ไม่สามารถให้ความสมจริงของบรรยากาศเสียงแบบนี้ ลำโพงฮอร์นให้เสียงที่สมจริง ความเพี้ยนต่ำ ให้เสียงที่สะอาดแม้จะเล่นในความดังระดับสูง ให้คุณภาพอิมเมจชิ้นดนตรีที่ัชัดเจนเหลือเชื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปร่างของฮอร์นความถี่สูง และไดร์วเวอร์ ซึ่งพบว่าความน่าหลงใหลของลำโพงฮอร์นที่พาให้เราเพลิดเพลินไปกับความเป็นดนตรี นี่หล่ะคือจุดเด่นของมัน

การเลือกระบบลำโพงฮอร์น
เรากำลังพูดถึงแต่เรื่องลำโพงฮอร์นกัน แต่ก็ไม่แนะนำว่าคุณต้องไปดิ้นรนไขว่คว้าระบบลำโพงไฮไฟสุดคลาสสิคปี 1950 ราคาแพงๆ แถมส่วนใหญ่ลำโพงเหล่านี้ถูกออกแบบครึ่งๆกลางๆจะว่าดีก็ดีจะว่าไม่ดีก็ไม่ดี ซึ่งเรียกว่าเป็นระบบลำโพงฮอร์นที่ยังไม่คุ้มค่าตัวเช่น Klipsch ทุกรุ่น, RCA, EV Partricians, Georginns, JBL Hartsfields , Altec 604 เป็นต้นเป็นลำโพงฮอร์นเหล่านี้ถูกออกแบบในยุคที่ยังไม่คำนึงถึงเรื่อง Time Alignment ของไดร์วเวอร์แต่ละตัว  (ขออภัยแฟนๆลำโพงคลาสสิควินเทจด้วยนะครับ)

ถ้าคุณอยากเล่นลำโพงฮอร์นการเริ่มต้นด้วยไดร์วเวอร์ที่ผลิตออกใช้งานทั่วไปที่มีถมเถอย่าง Altec, JBL, หรือ Western Electric เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ที่หาได้ง่ายใช้สะดวกสุดก็คือของ Altec มีหลายระดับหลากราคาสมเหตุสมผลในการใช้งาน คุณอาจจะได้ระบบลำโพงฮอร์นทั้งระบบในงบประมาณไม่สูงมากนัก ขึ้นอยู่กับโชคของคุณเอง ที่ต้องทำเพียงสร้างตู้เบสส์ให้มันเท่าันั้นเอง

ลำโพงฮอร์นเป็นระบบลำโพงสองทางสร้างง่ายที่สุด และเซ็ตอัพได้่ง่ายที่สุด แต่ส่วนประกอบของลำโพงที่ดีที่สุดนี้อาจจะไม่ได้สร้างมาเพื่อการใช้งานเป็นลำโพงสองทางก็ได้ ส่วนประกอบของระบบลำโพงสองทางที่นัก DIYer ชื่นชอบเป็นพิเศษจะเป็นชิ้นส่วนที่ออกแบบโดย Jim Lansing (แห่ง JBL และ Altec Lansing) สำหรับสร้างลำโพงชื่อดังของ Altec นั่นคือ “Voice of the Theater” ระบบลำโพง VOT ใช้แบบตู้ลำโพงคล้ายๆกันทั้งหมดแต่จะต่างกันที่ขนาดบางรุ่นก็มีขนาดใหญ่มาก ลำโพง VOT ส่วนใหญ่จะใช้ไดร์วเวอร์เดียวกัน แต่เงื่อนไของค์ประกอบใช้งานแตกต่างกัน ปกติจะใช้วูฟเฟอร์ขนาด 15″ และคอมเพรสชันไดร์เวอร์สำหรับความถี่สูงขนาด 1″ หรือ 1.4″ ครอสส์โอเวอร์ที่ใช้งานก็จะตัดที่ความถี่ 500 Hz ความชันประมาน 5 ออคเ็ท็พว์ ไดร์วเวอร์สำหรับความถี่สูงจะใช้ฮอร์นโหลดทั้งหมด ส่วนวูฟเฟอร์จะเป็นฮอร์นโหลดบางส่วน และมีตัวตู้สำหรับเพิ่มเสียงเบสส์ ตัวอย่างระบบลำโพงชนิดนี้ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นคือระบบลำโพง VOT

ฮอร์นสำหรับความถี่สูง
การเลือกฮอร์นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างระบบลำโพงฮอร์นแบบไฮไฟ ในบรรดาฮอร์นทั้งหมดจากผู้ผลิตชั้นนำมีมากหลายเป็นพะเรอเกวียน ซึ่งก็พอได้มีโอกาสทดลองฟังฮอร์นของ Altec หลากหลายแบบทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มีของ Electrovoice และ JBL แซมบ้าง ลำโพงฮอร์นที่ทดลองฟังทั้งหมดใช้กับครอสส์โอเวอร์ที่จุดตัด 500Hz หากสรุปเฉพาะในเรื่องของคุณภาพเสียง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับขนาด การออกแบบ และการควบคุมการกระจายเสียง ฮอร์นส่วนใหญ่จะมีความเพี้ยนค่อนข้างมากที่จุดตัดครอสส์โอเวอร์นี้ และมีการโรลออฟของการตอบสนองความถี่สูง


ฮอร์นส่วนใหญ่ออกแบบมาสำหรับใช้ในโรงภาพยนตร์ และหอประชุม นั่นหมายความว่าต้องสามารถกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ การกระจายเสียงได้กว้างเป็นพารามิเตอร์ที่ควบคุมได้ยาก การออกแบบฮอร์นโดยส่วนใหญ่จะมีปัญหาโดยตรงมาจากพารามิเตอร์นี้ไม่ว่าจะเป็นฮอร์นแบบ multi-cellular, diffraction และ sectoral ทุกแบบ (หรือเรียกได้่ว่าฮอร์นทั้งหมด) ออกแบบมาได้ดีกับการใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิมของมัน แต่เมื่อเอามาใช้งานด้านไฮไฟก็ต้องปรับใช้ไม่ให้มันมากเกินไป
แทนที่จะมองคุณสมบัติของฮอร์นก็ให้พิจารณาทิศทางการกระจายเสียงจากปากฮอร์น/ไดร์วเวอร์ จากไดร์วเวอร์ไปสู่ผนังด้านในของฮอร์นจะต้องเป็นส่วนโค้งที่ราบเรียบพึงระวังปากฮอร์นที่มีผนังด้านในตรง บอกผ่านฮอร์นที่มีมุมการเปลี่ยนของหน้าตัดมากๆ รอยต่อระหว่างช่องคอ (Throat) ของฮอร์นกับไดร์เวอร์ต้องต่อกันได้เรียบสนิท รูปทรงของปากฮอร์นที่ดีที่สุดต้องเป็นจตุรัส หรือวงกลม ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็พอได้แต่ต้องมีอัตราส่วนที่ไม่เป็นแบบ diffraction horn

ส่วนสำคัญที่ทำให้ลำโพงฮอร์นเสียงดีได้คือต้องใช้ครอสส์โอเวอร์ที่เหมาะสม เนื่องจากตัวฮอร์นมีความยาวมากกว่าลำโพงปกติ เช่น ฮอร์นที่ยาวมากถึง 3 1/2 ฟุตใช้ครอสส์โอเวอร์แบบความชัน 12db/octave ที่จุดตัด 500Hz ถ้าฮอร์นสั้นลงก็ให้ใช้ครอสส์โอเวอร์แบบ 18db หรือ 24db/octave ฮอร์นยิ่งสิ้นโอกาสเกิดความเพี้ยนแบบอินเตอร์มอดูเลชันยิ่งสูง และเกิดปัญหาทางอิมพีแดนซ์ในช่วงจุดตัดได้ง่าย

ให้มองผ่านเลยฮอร์นที่ใ้ช้วัสดุที่ไม่แน่นหนาอย่างเช่น กระดาษแข็ง (ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ มีจริงๆ!) ถ้าฮอร์นขึ้นรูปจากวัสดุที่มีการเรโซแนนซ์ได้อย่างเช่น อะลูมิเนียมหล่อ หรือแผ่นโลหะ ให้ใช้วัสดุสลายการสั่นสะเทือนอย่างเช่น เทปซีล, Mortite หรือแผ่นตะกั่ว เพื่อควบคุมการเรโซแนนซ์ การขันน็อตให้ฮอร์นยึดติดกับฐานแน่นๆก็ช่วยได้เช่นกัน หรือจะรองด้วยวารสารเก่าๆก็ได้ผลดีเช่นกัน

ไดร์เวอร์ความถี่สูง

มีองค์ประกอบสองสามอย่างในการเลือกไดร์เวอร์ความถี่สูง วัสดุที่ใช้ทำไดอะแฟรมมีความสำคัญต่อการตอบสนองความถี่ได้กว้าง วัสดุที่ดีได้แก่ อลูมิเนียม, เบอรีเรียม และไตตาเนียม ส่วนไดอะแฟรมที่ำทำจากโลหะอื่นก็จะรองลงมา ส่วนไดอะแฟรมพวกฟีโนลิคเหมาะสำหรับใช้ในระบบกระจายเสียงในสนามบินซะมากกว่าครับ (ขออภัยแฟนๆ EV (Electro Voice) และ RCA ว่าไดร์วเวอร์สองค่ายนี้ยังไม่เข้าข่ายน่าเล่นสักเท่าไหร่)


เฟสปลั๊กก็มีความสำคัญเช่นกัน ระบบที่ดีที่สุดที่ถูกใ่ช้งานในไดร์เวอร์ของ Western Electric, Altec และ JBL ไดร์เวอร์เหล่านี้จะมีศูนย์กลางของไดร์เวอร์แผ่โค้งเป็นลักษณะเอ็กโปเนนเชียล เพื่อบังคับเสียงให้วิ่งออกช่องคอของไดร์เวอร์ โปรดฟังอีกครั้งว่าบอกผ่านไดร์เวอร์เก่าๆของ EV ในยุคหลังๆไดร์เวอร์ของ EV ก็เปลี่ยนมาใช้เฟสปลั๊กที่เป็นสิทธิบัตรในแบบของ Lansing

แม่เหล็กเป็นส่วนสำคัญที่มีผลโดยตรงทั้งการตอบสนองความถี่ และความเพี้ยนของเสียง ไดร์เวอร์ที่มีน้ำหนักมากส่วนใหญ่เสียงดีกว่าไดร์เวอร์ที่มีน้ำหนักเบากว่า เนื่องจากพื้นที่เหล็กที่ทำหน้าที่เป็นกรอบหุ้มแม่เหล็กที่มีขนาดใหญ่จะให้ความแรงของสนามแม่เหล็กสูงมากให้กับช่องวอยซ์คอยล์ แม่เหล็กในไดร์วเวอร์เก่าๆจะมีคุณภาพดีกว่าแม่เหล็กเฟอร์ไรต์ในปัจจุบัน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะนิยมใช้แม่เหล็กไฟฟ้า หรือฟิลด์คอยล์ ซึ่งไดร์เวอร์แบบนี้หาได้ไม่ง่ายนัก

 

ไดร์เวอร์ความถี่ต่ำ

ฮอร์นสำหรับความถี่ต่ำต้องการพื้นที่มากยิ่งความถี่ลงต่ำถึง 50Hz ฮอร์นจะมีขนาดใหญ่มาก บางคนสร้างเอ็กโปเนนเชียลฮอร์นแบบตรงสำหรับความถี่ต่ำ ขนาดของฮอร์นใหญ่มากๆเรียกว่าใหญ่กว่าตัวบ้านเสียอีก

ทางออกที่เหมาะสมสำหรับลำโพงฮอร์นความถี่ต่ำคือสร้างเป็นตู้ลำโพงที่ผสมผสานระหว่างฮอร์นสั้นๆ และช่ิองพอร์ต ฮอร์นสั้นๆมีความแตกต่างไปจากฮอร์นของความถี่สูง เนื่องจากจะเป็นโครงแผ่นสำหรับบังคับทิศทางของเสียง ทำหน้าที่สองอย่างคือจัดระเบียบให้ไดร์เวอร์ความถี่ต่ำและความถี่สูง และบังคับการกระจายเสียงกลางของวูฟเฟอร์ให้แคบลง ทำได้เสียงที่ผสมกับเสียงกลางจากไดร์วเวอร์ความถี่สูงเป็นธรรมชาติ Altec ใช้ตู้แบบนี้กับระบบลำโพง Voice of The Theate

นักเล่นหลายๆคนชอบทีุ่จะซื้อตู้เบสส์มากกว่าที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากการสร้างตู้ขึ้นมาใหม่ต้องอาศัยฝีมืองานไม้ และประสบการณ์มากพอควร หากได้เคยลงมือสร้างตู้ A7 ขึ้นมาใหม่พบว่ามันไม่สนุกเอาเสียเลย พึ่งพาช่างทำลำโพงมืออาชีพดีกว่าครับ ที่น่าสนใจคือแทนที่จะหาซื้อตู้เก่ากลับไปลองดูตู้ใหม่ๆสำหรับงาน PA ที่ใช้สำหรับงานแสงสีเีสียงอย่างตู้แบบ VB790 เป็นตู้เวอร์ชันไฟเบอร์กลาสส์ของตู้แบบ Altec Horn หรืออาจจะไปซื้อฮอร์นไฟเบอร์ แล้วตีตู้สี่เหลี่ยมสักใบก็พอ แต่อาจจะดูไม่เก๋าก็ลองหาตู้ไม้อัดหนา 3/4″ หรือ 5/8″ เดิมๆของ Altec ที่เป็นตู้ที่ใช้ใน A5 หรือ A7
ตู้ในแบบของ A5 และ A7 ถือว่าเป็นแบบสามัญทีุ่สุดของการเล่นลำโพงฮอร์น เนื่องจากเป็นแบบตู้หลักที่ใช้ในระบบ VOT แต่ถ้าห้องฟังของคุณกว้างเหลือเฟือ ก็ใช้รุ่นใหญ่ๆของ VOT ก็จะได้ประสิทธิภาพของเสียงความถี่ต่ำๆได้ดียิ่งขึ้น

ตัวไดร์เวอร์ความถี่ต่ำดีๆมีมากมาย เชื่อมั้ยครับว่าหากคุณสบโอกาสได้ฟังเสียงของไดร์เวอร์ Altec, Electrovoice, JBL, Jensen และ Stephens เสียงโน็ตเบสส์จากไดร์เวอร์เหล่านี้เมื่อลงตู้ฮอร์นโหลดที่เหมาะสมแล้วได้คุณภาพคับแก้วเหลือเชื่อ ซึ่งการออกแบบวูฟเฟอร์ในอดีตก็ไม่ได้มีสเปคเลิศอะไรมากมายนัก

วูฟเฟอร์รุ่นใหม่ๆส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า และรับกำลังขับได้สูงกว่า อย่างวูฟเฟอร์ขนาด 15″ ของ JBL รับกำลังขับได้ถึง 800W เทียบกับดอกลำโพงขนาด 15″ เมื่อ 30 ปีก่อนพบว่าเจ้ายักษ์ตัวใหม่นี้ให้เสียงออกมาไม่ดีเท่าเลยเทียว ความสามารถในการรับกำลังขับได้มากขึ้น หมายความว่ากำลังสูญเสียในรูปของความร้อนมีมากกว่า น้ำหนักก็มากขึ้น วอยซ์คอยล์ก็ใหญ่ขึ้น ซัสเพนชันของไดร์เวอร์ก็แข็งขึ้น เพื่อที่จะรับมือกับกำลังกว่า 800W ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นใดๆเลย


ถ้าจะมองหาวูฟเฟอร์ดีๆไว้ใช้งานกับระบบลำโพงฮอร์นก็เลือกวูฟเฟอร์ที่เป็นแม่เหล็กอัลนิโกขนาดเขื่องๆเข้าไว้ แม่เหล็กแบบอัลนิโกมีประสิทธิภาพสูง และความเพี้ยนต่ำกว่าแม่เหล็กแบบเฟอร์ไรต์ หรือแบบเซรามิคมาก วอยซ์คอยล์ก็เลือกแบบที่พันหลายชั้นจำนวนขดลวดที่มากขึ้นลำโพงก็จะมีประสิทธิภาพขึ้น กรวยลำโพงดีๆทำมาจากกระดาษ กรวยแบบอลูมิเนียมลดทอนคุณภาพเสียงลง อย่าลืมว่าเราเอามาใช้กับแอมป์หลอดที่กำลังขับอย่างเก่งก็เพียง 50W ไม่ได้เอามาใช้กับแอมป์เขื่องๆกำลัง 800W

ผ่านเวลาเป็นเนิ่นนานวัสดุในสร้างกรวยลำโพงเปลี่ยนไปมากมาย แต่กรวยลำโพงที่สร้างจากกระดาษมันใช่!มากกว่า ยังหาอะไรจะเทียบกับวูฟเฟอร์กรวยกระดาษเบาๆกับแม่เหล็กใหญ่ๆได้อยู่ดี รูปร่างของกรวยลำโพงก็มีความสำคัญผิวกรวยลำโพงตรงจะให้มิดเบสส์ที่มีโทนเสียงดีกว่า และให้รายละเอียดดีกว่ากรวยลำโพงที่มีผิวกรวยโค้ง ที่เด่นในเรื่องความถี่กลางขึ้นได้สูงกว่า กับจุดตัดความถี่ที่เราเลือกคือ 500Hz ผิวกรวยลำโพงแนวตรงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า

ซัสเพนชัน หรือสไปเดอร์ของวูฟเฟอร์มีผลต่อคุณภาพเสียงมากเช่นกัน ลำโพงความไวสูงคอยล์จะมีขนาดเล็กแขวนบนซัสเพนชันลงตรงกลางช่องแม่เหล็ก ซึ่งต้องอยู่ตรงกลางของช่องแม่เหล็กพอดีเป๊ะๆไม่งั้นจะเกิดเสียงแค๊กๆจากคอยล์เบีียดกับแม่เหล็ก หลายๆคนชื่นชอบสไปเดอร์ของลำโพง Altec รุ่นเก่าๆที่เป็นเบกาไลต์ เป็นโครงสร้างที่แข็งแรงควบคุมการหยุดของกรวยลำโพงได้ดี ถ้าลงตู้ที่เหมาะสมแล้วการเคลื่อนที่ของกรวยลำโพงจะมีไม่มากนักช่วยป้องกันการสั่นค้างของกรวยลำโพงได้ดีขึ้น

วูฟเฟอร์ที่จัดว่าเป็นยาสามัญในการเล่นระบบลำโพงฮอร์นก็คือ Altec 515 หรือ 515A เริ่มผลิตมาตั้งแต่กลางปี 1940 รุ่นที่เก่ามากๆสไปเดอร์จะเป็นเบกาไลต์ ผิวกรวยลำโพงเป็นแนวตรง และขอบลำโพงแข็งเป็นครึ่งวงกลม เป็นรูปแบบที่บ่งบอกว่าลำโพงที่ดีควรสร้างอย่างไร! รุ่นใหม่ล่าสุดจะเป็น 515B ช่วงปี 1980 ลำโพงรุ่นนี้จะเปลี่ยนมาใช้แม่เหล็กเฟอร์ไรต์ซึ่งจะให้เสียงสดชัดต่างไปจากรุ่นดั้งเดิมที่เป็นแม่เหล็กอัลนิโก

ยังมีวูฟเฟอร์ที่น่าสนใจอย่างเช่น Altec 416 และ 803 ซึ่งเป็นลำโพงแบบเดียวกันซึ่ง 416 ก็คือ 803 รุ่นใหม่ที่ใช้พาร์ตนัมเบอร์ต่างกัน วูฟเฟอร์ 803 คล้ายๆกับ 515 แต่ออกแบบให้ใช้กับครอสส์โอเวอร์จุดตัดความถี่ที่ 800Hz วูฟเฟอร์รุ่น 813 เหมาะกับตู้แบบ 825 ใช้ร่วมกับคอมเพรสชันไดร์เวอร์ 803 กับฮอร์น 811 กลายเป็น A7 หรือ Baby VOT

ครอสส์โอเวอร์

ครอสส์โอเวอร์ในอดีตยังมีประสิทธิภาพต่ำเทียบกับครอสส์โอเวอร์รุ่นใหม่ๆสำหรับใช้งานด้านไฮไฟอย่างในปัจจุบัน ทางออกของปัญหาในยุคนั้นคือออกแบบให้ใช้ฮอร์นยาวๆแทน เนื่องจากความยาวของฮอร์นมีผลต่อประสิทธิภาพของครอสส์โอเวอร์อย่างมาก เพราะครอสส์โอเวอร์มีผลโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางอิมพีแดนซ์ของไดร์วเวอร์ ถ้าฮอร์นสั้นเกินไปจะทำให้ความถี่ี่่เกิดขึ้นจากลำโพงมีผลต่ออิมพีแดนซ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่คงที่แทนที่จะเป็น 16 โอห์ม หรือค่าอื่นๆตามที่ต้องการ ครอสส์โอเวอร์เน็ตเวิร์คต้องการให้การเปลี่ยนแปลงทางอิมพีแดนซ์ราบเรียบของผลรวมระหว่างไดร์วเวอร์ความถี่สูง และไดร์วเวอร์ความถี่ต่ำ การเปลี่ยนแปลงของอิมพีแดนซ์จะมีผลต่อในเรื่องของเฟส และแอมปลิจูดของสัญญาณเสียงด้วย


เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเฟสของลำโพงถูกต้อง คุณต้องทำการทดลองเช็คเฟสของไดร์เวอร์แต่ละตัว เนื่องจากเฟสของไดร์เวอร์แต่ละตัวอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ จากนั้นค่อยต่อไดร์เวอร์แต่ละตัวเข้าครอสส์โอเวอร์ แล้วทดลองปรับแต่งที่ชุดควบคุมของครอสส์โอเวอร์ ต้องให้แน่ใจว่าไดร์เวอร์แต่ละตัวจัดเรียงให้ระยะห่างจากตำแหน่งนั่งฟังว่าเท่ากันหมดทุกตัว

เนื่องจากปกติการออกแบบครอสส์โอเวอร์มีความยุ่งยากซับซ้อนมากพอที่จะเขียนบทความใหม่ได้เรื่องหนึ่ง ก็ขอแนะนำว่าให้ใช้วงจรครอสส์โอเวอร์เก่าๆ แต่ปรับปรุุงให้ใช้อุปกรณ์ใหม่ สำหรับสร้างครอสส์โอเวอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง หรือจะใช้ไบแอมป์ก็ุสุดแท้แต่ ซึ่งให้ลำโพงฮอร์นของเราเปล่งเสียงไพเราะออกมาได้

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการเล่นระบบลำโพงฮอร์นก็คือการหาแอมป์ที่เหมาะกับลำโพงฮอร์น แอมป์โซลิตสเตตกำลังสูงจะให้เสียงที่ออกมาดีก็ต่อเมื่อนำไปใช้งานกับลำโพงความไวต่ำ แต่ถ้านำมาเล่นกับฮอร์นพบว่ามันให้เสียงออกมาไม่น่าฟังเลยสักนิด กับลำโพงฮอร์นความไวสูงพึงหลีกเลี่ยงแอมป์โซลิตสเตตกำลังสูงๆ หรือแม้กระทั่งแอมป์หลอดวัตต์สูงๆี่ที่มีหลอด 6550 เรียงเป็นตับ ก็ขับขานฮอร์นออกมาได้ไม่ชัดสะอาดแม้จะเปิดเบาๆก็ตาม ระบบลำโพงฮอร์นไปกันได้ดีกับแอมป์หลอดวัตต์ต่ำๆมากกว่า